เชิญ นศ.ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล “สายฟ้าน้อย” ครั้งที่8

logotbjanewweb

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดโครงการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าวทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สำหรับนักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิทยุและโทรทัศน์  ภายใต้ชื่อรางวัล“สายฟ้าน้อย” ครั้งที่ 8

เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการผลิตรายการ และเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์   อันจะเป็นช่องทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหลังจากจบการศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ การประกวดจะมี 3 ประเภท  คือ  สารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง  สารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ และคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง รวม 12 รางวัล พร้อมโล่เกียรติยศและเงินรางวัลกว่าแสนบาท โดยส่งผลงานเข้าประกวดในนามมหาวิทยาลัย ได้ 5 เรื่อง / ประเภทสมาคมฯ เปิดรับผลงานส่งประกวด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจะประกาศผลรางวัลในเดือนธันวาคม 2555 โดยจะแจ้งวันประกาศผลที่แน่นอนให้ทราบอีกครั้ง

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวนี้เพื่อเชิญชวนนักศึกษาผู้สนใจ ส่งผลงานเข้าประกวดต่อไป  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือและขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ดาวน์โหลดเอกสารทั้งหมดที่ www.thaibja.org/ประกวดสายฟ้าน้อย8

saifanoi4

 


หลักเกณฑ์

การประกวดผลงานข่าว ‘รางวัลสายฟ้าน้อย’ ครั้งที่ ๘

โดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้จัดให้มีการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าว ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของนิสิตนักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

๒. เพื่อเตรียมความพร้อมของนิสิตนักศึกษาก่อนเข้าสู่วิชาชีพ

๓. เพื่อประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ

 

ประเภทรางวัล

ด้านวิทยุ แบ่งออกเป็น ๑ ประเภท ดังนี้

๑. สารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง

๒.๑ รางวัลดีเด่น โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๑๕,๐๐๐ บาท ๑ รางวัล

๒.๒ รางวัลชมเชย โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท ๓ รางวัล

ด้านโทรทัศน์ มี ๑ ประเภท คือ

๑. สารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์

๑.๑   รางวัลดีเด่น โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๒๕,๐๐๐บาท ๑ รางวัล

๑.๒ รางวัลชมเชย โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๑๕,๐๐๐ บาท ๓ รางวัล

 

ด้านคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง มี ๑ ประเภท คือ

๑. คลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง

๑.๑ รางวัลดีเด่น โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท ๑ รางวัล

๑.๒ รางวัลชมเชย โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล ๓,๐๐๐ บาท ๓ รางวัล

 

หลักเกณฑ์การตัดสิน

คณะกรรมการ จะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

๑. คุณภาพ (Quality)

กระบวนการผลิตมีการค้นคว้าข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริง แหล่งอ้างอิงเชื่อถือได้ ประเด็นและแง่มุมมีความสมดุลรอบด้าน  เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเห็นหรือให้ข้อมูลอย่างทัดเทียมกัน เนื้อหาเป็นเรื่องใกล้ตัว ใหม่ ทันสมัยและสมบูรณ์ในเชิงข่าว (๕W+๑H)

 

๒. คุณค่า (Value)

นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมให้เกิดสิ่งดีงามในสังคมไทยหรือสื่อความหมายชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจหรือเชิงสังคมโดยส่วนรวม มีศักยภาพนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์หรืออาจนำไปสู่การแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวในอนาคต

 

๓. ผลงาน (Performance)

การเดินเนื้อหากระชับ ชัดเจน นำเสนอโดยใช้ศาสตร์และเสน่ห์ของวิทยุและโทรทัศน์ได้อย่างน่าสนใจ

 

๔. จรรยาบรรณ (Code of Ethics)

เป็นต้นฉบับของผู้ส่งเข้าประกวด ไม่ได้ลอกเลียนแบบผู้อื่น มีสำนึกในจริยธรรมและสะท้อนความรับผิดชอบในการนำเสนอ

ความเห็นคณะกรรมการตัดสิน ให้ถือเป็นที่สุด

ผู้สนับสนุนการประกวด

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

การส่งผลงานเข้าประกวด

ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องเป็นนิสิต/นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ สามารถผลิตงานในนามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกลุ่มละ ๕ คน โดยสามารถมีอาจารย์ที่ปรึกษาได้กลุ่มละ ๑ คน
ผลงานแต่ละชิ้นของสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง สารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ มีความยาวระหว่าง ๓-๕ นาที ส่วนคลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง มีความยาวระหว่าง ๒-๓ นาที และส่งผลงานในนามมหาวิทยาลัย จำนวน ๕ ชิ้น / ประเภท โดยมีจดหมายนำส่งจากมหาวิทยาลัย และใช้แบบฟอร์มการส่งผลงานของสมาคมฯ

หมายเหตุ      การส่งผลงานเข้าประกวด หากผิดหลักเกณฑ์การประกวด จะไม่ได้รับการพิจารณา

 

ลักษณะของข่าวและสารคดีเชิงข่าวที่ส่งเข้าประกวด

คลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง คือ การรายงานข่าวที่ผู้สื่อข่าวได้เลือกใช้ภาพและเสียงบรรยากาศในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  ภาพและเสียงประกอบจากแหล่งข่าว หรือแหล่งข้อมูล ภาพและเสียงผู้ถูกสัมภาษณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับข่าว มาประกอบข่าวออกอากาศ เพื่อเสริมให้เนื้อหามีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ รวมทั้งทำให้ข่าวมีสีสันมากขึ้นกว่าการรายงานแต่เสียงของผู้สื่อข่าวเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันการรายงานข่าวทางสถานีวิทยุส่วนใหญ่ในประเทศไทย มักจะเน้นที่การรายงานของผู้สื่อข่าวเป็นหลัก มีอยู่บ้างที่นำเสียงผู้ให้สัมภาษณ์มาใช้ประกอบข่าว แต่การใช้เสียงดังกล่าวมักจะไม่ค่อยได้มาตรฐาน อาทิ บทนำเข้าเสียง(Cue) มักจะซ้ำกับเนื้อหาในเสียงสัมภาษณ์ คุณภาพของเสียงต่ำจนฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจจะเกิดจาก

เครื่องมือที่ด้อยคุณภาพหรือผู้สื่อข่าวขาดความเอาใจใส่ ไม่ได้ใช้เสียงสัมภาษณ์เพื่อการสื่อข่าวที่ดีพอ ทั้งในแง่เทคนิคการนำเสนอและการสื่อข่าว เป็นต้น

ข่าวประกอบเสียงที่ดีจะสะท้อนคุณสมบัติของผู้สื่อข่าววิทยุดังต่อไปนี้

๑. ทักษะในการจับประเด็นข่าว

๒. ทักษะในการสัมภาษณ์และเลือกใช้เสียงสัมภาษณ์

๓. ทักษะในการเขียน การสร้างความสมดุลของข่าว และการรายงานข่าว

๔. ทักษะในการจัดโครงสร้างข่าว ไม่ใช่เสียงประกอบโดยขาดหลักการสื่อความหมาย

๕. ทักษะในการใช้เทคนิคการทำข่าววิทยุ

สารคดีเชิงข่าว ได้แก่ข่าวที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของสารคดีที่มีความหลากหลายทั้งในด้านกระบวนการผลิต เนื้อหา  การสอดแทรกข้อมูลที่บอกถึงภูมิหลังที่มาของเรื่อง ทำให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของประเด็นข่าว  การใช้ภาษาบรรยาย ภาพและเสียงประกอบได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน

สารคดีเชิงข่าวดังกล่าว จะต้องยึดหลักการเบื้องต้นของการนำเสนอข่าว ได้แก่ องค์ประกอบด้านแหล่งข่าวที่ต้องมีความรอบด้าน ทันต่อเหตุการณ์หรือเป็นเหตุการณ์ข่าวที่เกิดในอดีต แต่มีผลกระทบถึงภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้ สารคดีเชิงข่าวจะปรากฏในรายการใดก็ได้ แต่สาระในสารคดีเชิงข่าวชิ้นนั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริง มิใช่เหตุการณ์สมมติที่มีการสร้างขึ้น

หลักฐานการส่งผลงาน

๑. วิทยุกระจายเสียง บันทึกลงแผ่นบันทึกข้อมูล (Compact Disc: CD) จำนวน ๖ แผ่น ต่อหนึ่งผลงานที่ส่งประกวด

๒. วิทยุโทรทัศน์ บันทึกลงแผ่นบันทึกข้อมูลภาพ (Video Compact Disc: DVD)   จำนวน ๖ แผ่น ต่อหนึ่งผลงานที่ส่งประกวด

๓. คลิปวิดีโอข่าวประกอบเสียง บันทึกลงแผ่นบันทึกข้อมูลภาพ (Video Compact Disc: DVD)   จำนวน ๖ แผ่น ต่อหนึ่งผลงานที่ส่งประกวด

๔. รายละเอียดของผลงาน ประกอบด้วย (๖ ชุด)

๔.๑ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้จัดทำ เบอร์ติดต่อ ชื่ออาจารย์ผู้รับรอง และชื่อสถาบันการศึกษาที่สังกัด

๔.๒ บทคัดย่อสรุปเรื่องราว พร้อมเหตุผลประกอบในการนำเสนอผลงานดังกล่าว ความยาวไม่เกิน

๑ – ๒ หน้า โดยอธิบายในประเด็นดังนี้

(๑) วัตถุประสงค์ในการเสนอผลงาน

(๒) ความเด่น ลักษณะเฉพาะหรือความพิเศษของผลงาน

(๓) คุณค่าของผลงาน

๔.๓ บทสมบูรณ์ (Script) ของผลงาน (๖ ชุด)

๕. ส่งผลงานมายัง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ๕๓๘/๑ ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๓-๘๔๗๙ และ ๐-๒๒๔๓-๘๔๘๙ หมดเขตรับผลงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕   กรณีนักศึกษาอยู่ต่างจังหวัด ถือเอาวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

การตัดสินและประกาศผล

๑. คณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และนักวิชาการสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จำนวน  ๕   คน

๒.    ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลภายในเดือน พฤศจิกายน  ๒๕๕๕ โดยจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้งทางเวปไซต์www.thaibja.org

ประกาศ ณ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

 

แท็ก คำค้นหา