องค์กรวิชาชีพสื่อ เรียกร้องกสทช. เร่งรัดเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ อ้างส่งผลปฏิรูปสื่อล่าช้า

200355

 

ส.นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย-สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ยื่นหนังสือ บอร์ด กสทช. ให้ทบทวนแผนแม่บทฯ เร่งรัดเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ เร็วขึ้นกว่าเดิม จากที่กำหนดไว้ วิทยุ ๕ ปี โทรทัศน์ ๑๐ ปีและโทรคมนาคม ๑๕ ปี ป้องกันปฏิรูปสื่อล่าช้า

 

(๒๐ มี.ค.๕๕)นายวิสุทธิ์   คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพทั้งสองแห่ง ยื่นหนังสือต่อ  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อขอให้ กสทช.ทบทวน สาระสำคัญในการกำหนดระยะเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาชีพ และนักวิชาการจำนวนมากทักท้วงไม่เห็นด้วยกับกรอบระยะเวลาการเรียกคืนคลื่นความถี่ กิจการวิทยุภายใน ๕ ปี กิจการโทรทัศน์ภายใน ๑๐ ปี และ กิจการโทรคมนาคมภายใน ๑๕ ปี พร้อมเรียกร้องให้กสทช. นำข้อเสนอจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ฯ  และ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  ที่ผ่านมากลับไปพิจารณาใหม่

 

องค์กรวิชาชีพสื่อฯ เห็นว่าระยะเวลาที่นานเกินไป ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว  จะทำให้ร่างแผนการบริหารคลื่นความถี่ฯนี้  อาจไม่มีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ  พร้อมเสนอให้เร่งระยะเวลาสิ้นสุดการใช้คลื่นในกิจการกระจายเสียงว่าไม่ควรเกิน ๒ ปี และกิจการโทรทัศน์ไม่ควรเกิน ๔ ปี เพื่อให้กิจการแต่ละประเภทปรับเข้าสู่ระบบใบอนุญาตในรอบต่อไปได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อที่ล่าช้ามานานกว่า ๑๔ ปี

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า ข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีต่อแผนยุทธศาสตร์การคืนคลื่นความถี่ฯ โดยเฉพาะความเห็นที่ผ่านกระบวนการในเวทีรับฟังที่กสทช.เป็นผู้จัดให้มีขึ้นนั้นมีความสำคัญ จึงจำเป็นที่ กสทช.จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและถือเป็นสาระสำคัญเพราะมีผู้เห็นด้วยกับข้อทักท้วงนี้จำนวนมากอีกทั้งต้องการให้เร่งรัดการจัดสรรคลื่นความถี่โดยเร็วที่สุด  หากกสทช.ปฏิเสธความเห็นเหล่านี้ เท่ากับปฏิเสธความคิดเห็นและปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งขัดต่อแนวทางหลักที่จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานและกำหนดทิศทางนโยบายในอนาคต  จึงขอเรียกร้องให้กสทช.ทบทวนแนวคิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ก่อนประกาศใช้แผนฯ หรือมาตรการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง

แท็ก คำค้นหา