ขอเชิญชวนสื่อมวลชนลงทะเบียนรับปลอกแขนสื่อมวลชนชุดใหม่ (รอบที่5)

ขอเชิญชวนสื่อมวลชนลงทะเบียนรับปลอกแขนสื่อมวลชนชุดใหม่ (รอบที่5) https://tja.or.th/view/news/1448456
*ตามรายละเอียด​และเงื่อนไข​ดังนี้….
การลงทะเบียนรับปลอกแขนสื่อมวลชนชุดใหม่ (รอบ​ห้า)
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ศปสช.จัดตั้งขึ้นจากองค์กรวิชาชีพสื่อ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้จัดทำปลอกแขนตราสัญลักษณ์ “Press” สำหรับสื่อมวลชนโดยผ่านกระบวนการการคัดกรอง และจัดลำดับหมายเลข เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นสังกัดของผู้ใช้ปลอกแขน
มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าต้องเป็นสื่อมวลชนที่มีสังกัด มีกองบรรณาธิการที่สามารถรับผิดชอบทางกฎหมาย ผลิตข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ และในกรณีที่เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวสารทางโซเชียลมีเดียต้องมีเว็บไซต์ หรือโดเมนของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อการติดตามและรับผิดชอบกรณีที่มีการละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันมีองค์กรสื่อมวลชนได้ติดต่อลงทะเบียน และขอรับปลอกแขนไปแล้วจำนวนมากพอสมควร แต่ก็ยังมีสื่อมวลชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ปฎิบัติหน้าที่รายงานข่าวในพื้นที่การชุมชุมโดยไม่มีปลอกแขน
เพื่อเป็นการลดปัญหาการทำงานในพื้นที่ระหว่างสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ให้สื่อมวลชนได้มีเสรีภาพในการทำข่าวในพื้นที่ปราศจากการคุกคามจากฝ่ายใดฝ่านหนึ่ง สามารถรายงานข่าวอย่างรอบด้านสู่ประชาชน ศปสช. จึงได้ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่อาจได้รับอันตรายอันจะส่งผลกระทบต่อการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน จึงได้มีการพิจารณาเปิดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนปลอกแขนสัญลักษณ์สำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม(รอบที่ห้า) ตั้งแต่4 -20 สิงหาคม2566
จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนลงทะเบียนปลอกแขนตามวันเวลาที่กำหนดไว้ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> Facebook Fanpage สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ tjareporter@gmail.com และผู้ประสานงานปลอกแขนสามารถลงทะเบียนได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ (รอบห้า) https://forms.gle/w3fwfiMECSc63YbS9
ทั้งนี้ ศปสช. ยังได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยสื่อมวลชนภาคสนาม เพื่อความปลอดภัยในการทำข่าวการ ชุมนุม ขอให้ทีมข่าวภาคสนามและกองบรรณาธิการ จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อความปลอดภัย ประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์ร่วมกัน เพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์การทำงานและไม่เป็นผู้บาดเจ็บ หากเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดในการทำหน้าที่ กรุณาแจ้งข้อมูลเพื่อให้องค์กรวิชาชีพมีส่วนในการช่วยประสานและคลี่คลายปัญหาผ่านช่องทางติดต่อ “ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-668-9422 Facebook แฟนเพจ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association” และ Official line @tja_th
สำหรับเงื่อนไขรายละเอียดปลอกแขนสัญลักษณ์
ปลอกแขนสัญลักษณ์ชุดใหม่ มีลักษณะเป็นสีฟ้า ทาบด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า “PRESS” ซึ่งเป็นเครื่องหมายสากลที่สื่อถึงผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน มีแถบสะท้อนแสงสีเทาเพื่อช่วยให้สังเกตเห็นเด่นชัดในยามวิกาล มีแถบเวลโคร (เทปตีนตุ๊กแก) ในการสวมใส่ และรูสำหรับติดเข็มกลัด พร้อมด้วยตราสัญลักษณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นอกจากนี้ ปลอกแขนแต่ละชิ้นมีตัวเลข (serial number) ที่ไม่ซ้ำกันอีกด้วย
คณะทำงานพิจารณาปลอกแขนประกอบด้วยตัวแทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ในลิงก์นี้
ค่าดำเนินการสนับสนุนปลอกแขนสัญลักษณ์
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตปลอกแขนที่ค่อนข้างสูง ศปสช.จำเป็นต้องคิดค่าลงทะเบียนสำหรับปลอกแขนที่แต่ละสำนักข่าวทำเรื่องร้องขอในอัตราดังนี้:
ปลอกแขนไม่เกิน 5 ชิ้นแรก ไม่มีค่าใช้จ่าย
ปลอกแขนชิ้นที่ 6 เป็นต้นไป มีค่าลงทะเบียนชิ้นละ 70 บาท
กรณีที่ปลอกแขนสูญหายและร้องขอใหม่ มีค่าลงทะเบียนชิ้นละ 170 บาท
ผู้ประสานงานปลอกแขนสัญลักษณ์
ศปสช.ขอให้แต่ละสำนักข่าวที่ประสงค์ร้องขอปลอกแขนสัญลักษณ์ แต่งตั้งผู้ประสานงานขึ้นมาจำนวน 1 คน ซึ่งผู้ประสานงานนี้ จะเป็นผู้รวบรวมจำนวน รายชื่อ ตำแหน่ง ข้อมูลของผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนที่ต้องใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์ และลงทะเบียน ส่งรายละเอียดต่างๆ พร้อมด้วยจำนวนที่ร้องขอ
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานดังกล่าว จะต้องช่วยติดตามว่าในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ปลอกแขนหมายเลขต่างๆ อยู่กับผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนคนใดบ้าง เพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากเกิดเหตุจำเป็น
ในกรณีสำนักข่าวที่มีขนาดใหญ่และแบ่งกองบรรณาธิการเป็นแผนกต่างๆโดยเอกเทศ เช่น แผนกหนังสือพิมพ์ แผนกทีวี แผนกออนไลน์ ฯลฯ ให้นับแต่ละแผนกเป็น 1 สำนักข่าว
ในกรณีที่มีผู้แสดงตัวเป็นผู้ประสานงานของแต่ละสำนักข่าวซ้ำซ้อนกัน ทางศปสช.จะเลื่อนการพิจารณาปลอกแขนของสำนักข่าวนั้นๆไปอยู่ลำดับท้ายๆ เนื่องจากต้องใช้เวลาตรวจสอบมากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า แต่ละสำนักข่าวควรมอบหมายผู้ประสานงานให้เรียบร้อยก่อนลงทะเบียน
ช่องทางการลงทะเบียนผู้ประสานงาน
ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงานจากแต่ละสำนักข่าว โปรดลงทะเบียนแสดงตนเป็นผู้ประสานงานปลอกแขนสัญลักษณ์และกรอกข้อมูลได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ถึง 20 สิงหาคม 2566
ลงทะเบียนผู้ประสานงานปลอกแขน
เมื่อศปสช.พิจารณาอนุมัติปลอกแขนให้สำนักข่าวของผู้ประสานงาน ศปสช.จะส่งอีเมล์แจ้งผลการพิจารณาให้ทางอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อขอให้ส่งเอกสารยืนยันตัวเองสำหรับการยื่นขอปลอกแขนในลำดับถัดไป
หลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะได้รับปลอกแขนสัญลักษณ์
1.เป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ (เช่น ตากล้อง ทีมไลฟ์เฟซบุก ฯลฯ) ที่มีหน้าที่ในการรายงานข่าวจากสถานการณ์ชุมนุมโดยตรง
2.มีเอกสารรับรองจากต้นสังกัด ซึ่งต้องเป็นสำนักข่าวที่รายงานข่าวสารเป็นกิจลักษณะ, มีช่องทางเผยแพร่ข่าวสารเป็นของตนเอง เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์, มีกองบรรณาธิการหรือผู้รับผิดชอบโดยชัดเจน, และดำเนินงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอปลอกแขนสัญลักษณ์:
1.บัตรพนักงาน บัตรกรมประชาสัมพันธ์ หรือเอกสารอื่นๆที่ระบุว่าผู้ขอปลอกแขนมีอาชีพเป็นสื่อมวลชน
2.หนังสือรับรองการทำงานจากสำนักข่าวต้นสังกัด
ในกรณีเป็นการจ้างงานลักษณะเฉพาะชิ้นงาน เช่น freelancer, stringer, หรือ fixer อนุโลมให้ใช้หนังสือรับรองการว่าจ้างชิ้นงานนั้นๆ จากสำนักข่าวนั้นๆ
เอกสารต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น
การยื่นเอกสารทั้งหมดจะเป็นระบบออนไลน์ และใช้ไฟล์หรือรูปเอกสารเท่านั้น
นายชำนาญ ย้ำว่า ปลอกแขนสื่อมวลชนเป็นกรรมสิทธิ์ของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ หากสำนักข่าวใดทำสูญหาย หรือบุคคลใดเก็บปลอกแขนได้สามารถติดต่อสอบถาม หรือดำเนินการส่งคืนได้ที่ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 0-2668-9422 ตั้งแต่วันจันทร์ ถึง ศุกร์ ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. หรืออีเมล์ tjareporter@gmail.com

แท็ก คำค้นหา