แถลงการณ์
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง
คัดค้านการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม
และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …….
ตามที่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๘ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ ๒) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ กำหนดให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เป็นวาระเร่งด่วน
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยรวบรัด ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และรอบด้านจากทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีหลายหลายประเภทแตกต่างตามช่องทางการเปิดรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สาระสำคัญในจำนวนบทบัญญัติทั้ง ๔๙ มาตรา ที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมวิชาชีพ พ.ศ. … มุ่งหมายให้มีการจัดตั้งองค์กรชื่อ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และพิจารณาวินิจฉัยความถูกผิดของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่าขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่ โดยมิได้ตระหนักถึงวิธีการเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชนเปิดกว้างสำหรับทุกสาขาวิชาชีพอันมีลักษณะที่แตกต่างจากการออกกฎหมายเพื่อใช้กับการกำกับการประกอบวิชาชีพอื่นๆ และอาจกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยอ้างเหตุผลการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ในระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา นักการเมืองและทหารที่เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศ มีความมุ่งหมายที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุม กำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมาโดยตลอดไม่ต่ำกว่า ๕ ฉบับ โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจแก่คณะบุคคลที่มาจากกระบวนการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมกำกับการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งหมายรวมถึงเสรีภาพของประชาชน อันเป็นแนวคิดที่สวนทางกับกระแสโลกและความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันที่รัฐไม่สามารถจำกัดช่องทางการสื่อสารของประชาชนได้อีกต่อไป การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าวมีแต่จะสะท้อนถึงความล้าหลังในการนำกฎหมายมาจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน ซึ่งจะนำมาซึ่งความสูญเปล่าของงบประมาณและการบริหารราชการแผ่นดิน
นอกจากนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมิได้มุ่งให้เกิดการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพแต่อย่างใด ดังนั้นการจัดตั้งองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่บัญญัติให้มีกระบวนการสรรหาแบบไทยๆ ที่นับวันจะสะท้อนให้เห็นการหนุนสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ยึดโยงกับพวกพ้องในการเข้าสู่อำนาจและผลประโยชน์ดังที่เห็นอยู่ทั่วไปนั้น หากสรรหาบุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือรับใช้อำนาจเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินหรือรับรองความถูกผิดของการทำหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนและความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารแล้ว จะเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจเข้ามาควบคุมแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยวิธีการต่างๆ ได้ในอนาคต ความพยายามจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… และผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ด้วยข้ออ้าง “เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ตามที่ปรากฏในเจตนารมย์ของการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อุปมาได้กับการ “สร้างภาพลวงตา” ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติของกฏหมายกว่า ๓๐ ฉบับ ทั้งกฏหมายอาญา กฏหมายแพ่ง รวมทั้งกฏหมายอื่นๆที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเท่านั้น แต่ยังถูกกำกับ และตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากภาคประชาสังคม และประชาชน โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นในการตราร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ……
ด้วยเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอคัดค้านการดำเนินการใดๆเพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนฉบับดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ในทุกกรณี
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ดาวน์โหลดเอกสาร >>>> 06-02-2566 แถลงการณ์คัดค้านการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …….