ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565

เรื่อง  ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เรียน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุด APEC” ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวจำนวนมากแล้วนั้น

หลังจากเหตุดังกล่าว ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดิโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย:

– ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำๆเข้าที่ศีรษะ และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

– ช่างภาพจากสำนักข่าว Top News ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาด ขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนฟุตบาท ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย

– ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนฟุตบาธเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ

– ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา ซึ่งวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน

สื่อมวลชนที่บาดเจ็บในทั้ง 4 กรณี ได้ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บยังระบุว่าไม่ได้รับแจ้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและสื่อมวลชนคอยระวังหรือหลบหลีก เมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการผลักดัน หรือตอบโต้ผู้ชุมนุม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ  จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระที่มีพันธกิจผดุงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุดังกล่าว ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และชี้แจงผลการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับทราบตามลำดับ

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

ขอแสดงความนับถือ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

จดหมายถึงกสม(6องค์กรสื่อ) 2022_Dec_1_

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แท็ก คำค้นหา