6 องค์กรสื่อติดตามสถานการณ์คืนวันที่ 11 กันยายนด้วยความห่วงใย และร่วมหาทางออกแนวทางให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ผู้แทนผู้บริหารของ 6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้หารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 11 กันยายน โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุความรุนแรงในช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์
จากการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลพบว่า ค่ำวันดังกล่าวมีความรุนแรงในการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มทะลุแก๊ส” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีความรุนแรงมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการเพื่อกวาดจับผู้ก่อเหตุความรุนแรง โดยได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ให้มีการลงทะเบียนเพื่อการคัดกรอง ตรวจหลักฐานยืนยันความเป็นสื่อมวลชน ก่อนปฏิบัติการ โดยอ้างว่ามีรายงานว่ามีบุคคลบางส่วน ได้แสดงตัวเป็นสื่อมวลชน เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ไม่ได้มีสถานะนั้นอยู่จริง และฝ่ายเจ้าพนักงานก็ได้แจ้งให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์ โดยยังคงอนุญาตให้สื่อมวลชนที่มีสังกัดชัดเจน มีตัวตนยืนยันได้กับต้นสังกัด สามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวดังกล่าวได้ และยังไม่พบว่ามีสื่อมวลชนที่มีหลักฐานยืนยันตัวตนและเครื่องหมายระบุฝ่าย ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ 6 องค์กรสื่อยังได้รับแจ้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบผ่านผู้ประสานงานของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ดังนี้
“จากการประสานงานไปยัง บช.น. ผ่าน พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ โฆษก บช.น. ยืนยันมาว่า บช.น. ไม่มีนโยบายในการห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังประกาศเคอร์ฟิวส์แล้วก็ตาม แต่สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวส์เพื่อรายงานข่าวหรือไลฟ์สดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว์ประกอบด้วยก็จะถือว่าครบถ้วน”
“อย่างไรก็ตาม แม้มีเพียงบัตรแสดงตนและปลอกแขนก็เพียงพอแล้ว แต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสื่อมวลชนก็จะต้องถูกนำตัวไปสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย”
“ทั้งนี้ บช.น. ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทุกสำนัก และป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนได้รับอันตรายเนื่องจากพบว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนได้ปลอมเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมถึงหน่วยกู้ภัยต่างๆ ซึ่งเมื่อวานก็มีจับกุมตัวได้ จึงขอให้สื่อรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง และมีสิ่งยืนยันตัวตนติดตัวไว้ตลอดเวลา และสามารถให้เจ้าหน้าที่เรียกดูและตรวจสอบได้”
นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่าหากมีเหตุการณ์ใดที่พบมีการจับกุม การละเมิด หรือมีการทำร้ายผู้สื่อข่าวที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ขอให้แจ้งข้อมูลมายังช่องทางของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หรือองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ใน 6 องค์กรสื่อ เพื่อจะได้ช่วยประสานงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำหน้าที่และรักษาพื้นที่ของสื่อมวลชนในการเป็นพยานเหตุการณ์และรักษาสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายพีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยกล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ (11 ก.ย.) ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ เพราะหากมีคำสั่งห้ามสื่อนำเสนอข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์จริง จะส่งผลต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสังคม ซึ่งในทางกลับกัน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีสื่อคอยนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ผมเห็นว่า สื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงที่ถูกต้อง และควรมีพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้สื่อทุกสำนักสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวส์ เนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้รับผิดชอบให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานี้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน คือ มีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว และปลอกแขนที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ รวมทั้งต้องมีหนังสือขออนุญาตจากต้นสังกัดในการออกมาปฏิบัติงานในข่วงเคอร์ฟิวส์ประกอบด้วย”
“ผมยืนยันว่า สื่อควรมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ทั้งนี้ขอเรียกร้องทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ไม่ควรมีท่าทีที่คุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และสื่อทุกสำนักก็พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย” นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าว
นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทยให้ความเห็นว่าหนังสือรับรองจากองค์กรฯ ว่าทำงานหรือกลับจากปฎิบัติงานในช่วงเวลาคอร์ฟิวส์ อาจช่วยแก้ปัญหาให้นักข่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อแม้ล่วงเลยเวลาเคอฟิวส์แล้ว และยืนยันเห็นด้วยในหลักการเสรีภาพสื่อมวลชน ให้นักข่าวต้องทำข่าวได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น