ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. “ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562”

ตัวแทน 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ในฐานะ“ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. โดยมี
“ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562” ดำเนินการ 4 ข้อหลัก

5 องค์กร-สหภาพแรงงานร่วมฯ

21 พฤษภาคม  2562

เรื่อง      ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562

เรียน     เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (นายฐากร ตัณฑสิทธิ์)

ด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีมติเห็นพ้องกันในการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ประสานงาน และให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4 / 2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อันเป็นผลให้สำนักงาน กสทช.มีอำนาจในการให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลสามารถคืนใบอนุญาตโดยไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย และยังได้รับค่าชดเชยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 2 งวดสุดท้าย อีกทั้งผู้ประกอบกิจการฯ ที่ยังคงประกอบกิจการอยู่ต่อไปยังได้รับการช่วยเหลือไม่ต้องจ่ายค่าใช้งานโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ตลอดอายุสัญญาใบอนุญาตที่เหลืออีกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งรวมเป็นเงินรายได้แผ่นดินกว่า 30,000 ล้านบาท

แต่การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อลูกจ้างที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องประสบภาวะถูกเลิกจ้างจากนายจ้างที่เป็นเจ้าของช่องรายการที่แจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาตรวมทั้งสิ้น 7 ช่องรายการ ตลอดจนถึงผู้ประกอบการที่ยังคงประกอบกิจการฯ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ได้เคยใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การปรับโครงสร้างองค์กร โยกย้ายตำแหน่ง การมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับหน้าที่หรือทักษะตามตำแหน่งที่ว่าจ้าง และมาตรการทางบริหารอื่นๆ ในการกดดันลูกจ้างให้ออกจากงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย

“ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีอำนาจในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาต ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4 / 2562 ได้โปรดดำเนินการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทุกรายซึ่งได้รับประโยชน์จาก คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ดังกล่าว ดำเนินการ

  1. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่แจ้งความประสงค์คืนใบอนุญาต ประกอบกิจการ พิจารณาการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม คำนึงถึงคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน และคำนึงถึงความอุตสาหะทุ่มเทเสียสละให้กับองค์กรในการทำหน้าที่สื่อมวลชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
  2. กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นเงินพิเศษไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ในการประกอบอาชีพใหม่ นอกเหนือจากค่าชดเชยเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
  3. ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลที่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ทำสัญญาการจ้างงานที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสนอแผนงานด้านการพัฒนาบุคลากรที่ยังคงประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อ กสทช. เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสื่อมวลชนมืออาชีพ และยืนยันถึงความตระหนักในการพัฒนาเนื้อหารายการให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  1. ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนงบประมาณในการจัดฝึกอบรม พัฒนาวิชาชีพ ให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในระยะยาว เพื่อประโยชน์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านสื่อสารมวลชนเป็นกำลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 0
  2. ขอให้มอบหมายเจ้าหน้าที่ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง ในการประสานงานด้านข้อมูลร่วมกับ “ศูนย์ประสานงานและติดตามข้อมูลสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อมวลชน” (ศปส.) เพื่อได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อการแก้ไขเยียวยาให้กับพนักงานในองค์กรสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

อนึ่ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และการให้ผู้ประกอบกิจการสามารถคืนใบอนุญาตฯ ก่อนกำหนด ได้ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างกว้างขวางโดยมิได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทผู้รับจ้างผลิตรายการ พนักงานที่ปฏิบัติงานในโครงข่ายฯ ระบบอนาล็อก สื่อมวลชนอิสระ และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ภาพและกระจายเสียง (Freelance) จึงขอให้ กสทช.พิจารณาในการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โดยมุ่งให้การสนับสนุนเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสื่อสารมวลชนให้มีความก้าวหน้าและแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยื่น.

 

สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ดาวน์โหลดไฟล์

ข้อเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562

58670

58671

58672

58674

แท็ก คำค้นหา