ความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ความรุนแรงของประเทศในช่วงระยะ ๕-๖ ปี ที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินอย่างประมาณค่ามิได้ของประชาชน สังคม โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประชาชนทุกภาคส่วน โดยที่สังคมไทยยังคงตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและหากยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ จะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติจนยากที่จะฟื้นฟู
ในสถานการณ์ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง กลุ่มองค์กรที่มีชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ประมวลข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โดยถี่ถ้วนแล้วพบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงขึ้นอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง จึงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์นี้อย่างยิ่ง
ในขณะที่พรรคการเมืองได้ชูประเด็นเรื่องการปรองดองเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง แต่ยังไม่มีข้อเสนอใดที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าจะนำประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและความรุนแรงไปได้ เนื่องจากการแก้ปัญหานี้ต้องมีกระบวนการและดำเนินการโดยองค์กรที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
ด้วยเหตุนี้ ๕ องค์กรหลักภาคธุรกิจ และ ๒ องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุป ในการเสนอข้อเรียกร้อง ๓ ประการ ดังนี้
๑. พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และหลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการด้วยประการใดๆ ที่จะนำประเทศกลับไปสู่ความรุนแรงในทุกรูปแบบ
๒. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่า จะให้ความสำคัญกับกระบวนการลดความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ โดยให้ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
๓.การสร้างความปรองดองจะต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระและไม่ใช่คู่ขัดแย้ง โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๔
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
สมาคมธนาคารไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย