งานประกาศผลการตัดสินรางวัลสารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ รางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่13 /2560

IMG_6243

ผลการตัดสินรางวัลสารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ รางวัลสายฟ้าน้อย # 13

มช.คว้ารางวัลด้านวิทยุดีเด่น ส่วนสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ผลงานดีสุดแค่ชมเชย มรภ.สงขลา คว้าสูงสุด 4 รางวัล ตามติดด้วย ม.รังสิต 2 รางวัล, โดยมี ม.กรุงเทพ,ม.มหาสารคาม และ มรภ.สวนสุนันทา ได้ที่ละ 1 รางวัล
วันนี้ (16 ธ.ค.2560) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานประกาศผลรางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการผลิตรายการ และเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นช่องทางในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วิชาชีพหลังจากจบการศึกษาต่อไป ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 59 เรื่อง แบ่งเป็น สารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง 20 เรื่อง จาก 6 สถาบันการศึกษา และ ประเภทสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ จำนวน 39 เรื่อง ดังนี้
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ประเภทข่าวทั่วไปดีเด่น จำนวน 17 เรื่อง จาก 8 สถาบันการศึกษา
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทสิ่งแวดล้อมดีเด่น จำนวน 4 เรื่อง จาก 3 สถาบันการศึกษา
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทวิถีชุมชนดีเด่น จำนวน 9 เรื่อง จาก 5 สถาบันการศึกษา
สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม จำนวน 9 เรื่อง จาก 5 สถาบันการศึกษา
คณะกรรมการตัดสินรางวัลประเภทสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานเข้ารอบในแต่ละประเภทดังนี้ ตามหลักเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการ จะพิจารณาคือ คุณภาพ (Quality) คุณค่า (Value) ผลงาน (Performance) และที่สำคัญที่สุดคือ จริยธรรม จรรยาบรรณ (Code of Ethics) และคณะกรรมการได้พิจารณาด้วยว่า “ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นผลงานที่ผลิตโดยนักศึกษาในทีมเท่านั้น หากคณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ ตรวจสอบพบว่าผลงานหรือบางส่วนของผลงานมิได้ผลิตโดยนักศึกษาในทีมโดยตรง คณะกรรมการจะตัดสิทธิและไม่พิจารณาผลงานชิ้นนั้นที่ส่งเข้าประกวด เนื่องจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ ต้องการให้นักศึกษามีความซื่อสัตย์สุจริตในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบ”
– ผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทข่าวทั่วไปดีเด่น จำนวน 4 เรื่อง จาก 4 สถาบันการศึกษา * ผลการตัดสินไม่มีผลงานเรื่องใดได้รับรางวัลรางวัลดีเด่น และมีผลงานได้รับรางวัลชมเชยเพียงเรื่องเดียวคือ แฉบ่อนเฟซบุ๊กไลฟ์ ซ่อนในกลุ่มปิดสมาชิกกว่าล้าน นักพนันรุ่นเยาว์เพียบ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 10,000 บาท
– ผลงานเข้ารอบรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทสิ่งแวดล้อมดีเด่น ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 3 เรื่อง *ไม่มีรางวัลดีเด่น แต่มีผลงานได้รับรางวัลชมเชย 2 เรื่องคือ เรื่อง ระบบนิเวศ มหาวิทยาลัยรังสิต และ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เรื่อง เติมทรายชายหาดสมิหลา ผลงานทั้งสองเรื่องได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 10,000 บาท
– ผลงานเข้ารอบรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทวิถีชุมชนดีเด่น มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้าย 4 เรื่อง *ผลการตัดสินไม่มีผลงานเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยมี 3 เรื่องคือ เปิดการเรียนรู้สู่วิถีเยอ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม / เรื่อง โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ เรื่อง พลิกฟื้นชุมชนคลองแดนด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยทั้งสามเรื่องได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 10,000 บาท
-ผลงานเข้ารอบรางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรมดีเด่น ผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้าย 4 เรื่อง และไม่มีผลงานเรื่องใดได้รับรางวัลดีเด่น ผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยคือ เรื่อง ฅนบนเรือ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา / เรื่อง ลิเก 4.0 จาก มหาวิทยาลัยรังสิต และ เรื่อง โนราห์โกลน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยทั้งสามเรื่องได้รับ โล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 10,000 บาท

สำหรับรางวัลสายฟ้าน้อยประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง จำนวน 20 เรื่อง จาก 6 สถาบันการศึกษานั้น คณะกรรมการตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อย ประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานผ่านเข้ารอบ จำนวน 4 เรื่อง และจากผลงานผ่านเข้ารอบ 4 เรื่องนั้น ผลงานที่ได้รับรางวัล สารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียงดีเด่น ได้แก่ เรื่อง พร้อมแค่ไหนกับสังคมไทยไร้เงินสด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลชมเชย อันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง ธุรกิจร้านรับฝาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 5,000 บาท และ รางวัลชมเชย อันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง เตือนภัย อันตรายแก๊งลักรถ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 4,000 บาท
สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัลประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุ คือ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน/
นายเดชา รินทพล ผู้จัดการ สถานีวิทยุครอบครัวข่าว FM106 Mhz./ นางสาวรัศมี มณีนิล นักจัดรายการวิทยุด้านเด็กและครอบครัว FM 105 MHz / นางสาวสุดารัตน์ พงษ์สิงห์โต ครีเอทีฟและนักจัดรายการ FM 96.5 MHz. และ นายปกรณ์ พงศ์ดารา รักษาการบรรณาธิการข่าว สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม FM 99.5 MHz
คณะกรรมการตัดสินประเภท “สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์” นายพิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส /นายจักรพันธุ์ กมุทโยธิน ผู้เชี่ยวชาญประจำกองบรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ TNN24/ นางสาวสนมพร ฉิมเฉลิม ผู้ช่วยผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 / นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม เลขาธิการ สมาคมฯ / ดร.ปรัชญา เปี่ยมการุณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ /นายสุรชา บุญเปี่ยม ผู้ควบคุมการบริหารการผลิตรายการข่าว สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ / นายสุริยนต์ จองลีพันธ์ กรรมการ บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด และ นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดให้มีการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่มีคุณภาพของนิสิตนักศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษาก่อนเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งยังประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่าง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนโครงการฯ สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลสายฟ้าน้อยสมาคมฯ ได้สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินรางวัลไว้ดังนี้ ด้านคุณภาพ(Quality) คุณค่า(Value) ผลงาน(Performance) และจรรยาบรรณ/จริยธรรม(Code of Ethics)
ภาพรวมผลงานที่ส่งเข้าประกวดประเภทสารคดีเชิงข่าววิทยุและโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2560 ผลงานมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องประเด็น ภาพ เสียงและกระบวนการผลิต นักศึกษามีความพยายามในการเปิดประเด็นใหม่ ประเด็นที่ดี เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่น่าสนใจชื่นชมนักศึกษาที่มีความพยายามและมีความตั้งใจในการผลิตและนำเสนอประเด็นที่มีความสร้างสรรค์ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการตีความหมายประเภทที่ส่งประกวด และความหมายของการผลิตสารคดีเชิงข่าว ซึ่งมีความแตกต่างจากการผลิตสารคดี รวมทั้งปัญหาในการเล่าเรื่อง การเรียงลำดับในการนำเสนอผลงาน ทำให้เรื่องที่นำเสนอวนไปมา ยังขาดการค้นหาข้อมูลที่ชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งควรค้นหาความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทราบรายละเอียดในประเด็นมากขึ้น รวมถึงการคำนึงถึงความหมายของการใช้คำที่ถูกต้อง คณะกรรมการตัดสินรางวัลต้องการเน้นย้ำให้นักศึกษาตระหนักถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณในการผลิตผลงาน การนำเสนอผลงาน ที่ต้องผลิตกันในทีมของตน ไม่ลอกข้อมูลจากแหล่งอื่นโดยไม่มีความจำเป็นบางผลงานที่ส่งเข้าประกวดขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การประกวด จึงทำให้ต้องถูกตัดสิทธิ์ในการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการตัดสินเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะประเด็นดี การนำเสนอดีและโดดเด่น จึงอยากให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตระหนักและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กติกาด้วย
————————————————————–

แท็ก คำค้นหา