คนใช้เวลาอยู่กับจอทีวีน้อยลง โดยเฉพาะคนเมือง พฤติกรรมการใช้สื่อของคนวันนี้อยากมีปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบได้ทันที ดูทีวีที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ every time ซึ่งสื่อใหม่ตอบโจทย์กว่า
ผู้บริหารสื่อจำนวนไม่น้อยยังมองไม่ขาด หลายๆ คนมักพูดว่า จะ ‘โกดิจิทัล’ เห็นความสำคัญของดิจิทัล แต่ปัญหาคือยังคิดแบบแอนะล็อก ยังติดกับการมองแพลตฟอร์มแบบเดิม
ทีวีที่ไม่ปรับตัวอาจจะตายในอีกสองถึงสามปี หากกลุ่มคนต่างจังหวัดหันมาเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากราคามือถือถูกลงและอินเทอร์เน็ตเข้าถึงมากขึ้น
‘งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต ปี 2559 โต 63.61%’
บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด สรุปว่า งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในปีนี้ (2560) จะมีมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 21-26%
นี่คือความจริงที่วัดได้ผ่าน ‘ตัวเลข’ เกี่ยวกับสถานการณ์ของสื่อดิจิทัลวันนี้
การกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ใช้เพจ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว’ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ผ่าน Facebook Live
บทบาทใหม่ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในฐานะสื่อผ่านเพจ ‘ชูวิทย์ I’m Back’
และการประกาศยุติรายการ เกิดมาคุย เพื่อหันไปลุยการทำคอนเทนต์ผ่านออนไลน์อย่างจริงจังของ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะการกลับมาของนักเล่าข่าวอย่าง สรยุทธ ที่เรียกยอดไลก์และยอดวิวผ่านหน้าเพจ
มหาศาล ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า สื่อเก่ากำลังถึงจุดเปลี่ยน?
หรือแท้จริงแล้ว การโกดิจิทัลของ สรยุทธ-ชูวิทย์-วู้ดดี้ คือการตอกย้ำให้เห็น ‘ความจริง’ ที่ว่า ‘สื่อ’ ได้เปลี่ยนไปแล้ว
เนื้อหาและพลังกำหนดวาระข่าวสาร ไม่ได้อยู่ที่สื่อหลักฝ่ายเดียวอีกต่อไป
หน้า ‘จอ’ ที่เปลี่ยนไป
การสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ปี 59 โดย ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6.4 ชั่วโมงต่อวัน หรือเกือบถึง 1 ใน 3 ของระยะเวลาในหนึ่งวัน
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อวันนี้ว่า ภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อทีวีต้องตระหนักว่า วันนี้มี ‘สื่อ’ หรือช่องทางรับสารมากกว่าเดิมไม่รู้กี่ร้อยเท่า
“เมื่อก่อนแพลตฟอร์มสื่อจำกัด โดยเฉพาะบรอดแคสต์ (broadcast) แต่วันนี้เอาแค่ทีวีก็มีทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ถ้ารวมสื่อใหม่อย่างสื่อออนไลน์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และแอปฯ โซเชียลต่างๆ (อาทิ LINE, LINE TV ฯลฯ) ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกมากขึ้นเยอะ
“ส่วนเนื้อหาและพลังกำหนดวาระข่าวสาร ไม่ได้อยู่ที่สื่อหลักฝ่ายเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่อยู่ในมือคนทั่วไปที่มีคอนเทนต์ที่จะเล่าแล้ว ซึ่งถ้าเล่าแล้วโดนจริตกลุ่มเป้าหมาย ยอดผู้ชมหรือผู้ติดตามเยอะ คนคนนั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มเฉพาะ หรือที่นิยมเรียกกันว่า influencer”
ความจริงที่เจ้าของและคนทำสื่อทีวีวันนี้ต้องยอมรับ คืออะไร?
“คนใช้เวลาอยู่กับจอทีวีน้อยลง โดยเฉพาะคนเมือง พฤติกรรมการใช้สื่อของคนวันนี้อยากมีปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบได้ทันที ดูทีวีที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ every time ซึ่งสื่อใหม่ตอบโจทย์กว่า”
ทีวีคือ ‘ทางเลือก’ ไม่ใช่ ‘ทางหลัก’
ผศ. ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ นักวิชาการและอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตถึงสถานะของสื่อทีวีไว้ในบทความ ‘วิเคราะห์ทีวีดิจิทัลไทย ส่งท้ายปี 2559’ ในกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า
“ยุคนี้ ผู้คนถูกแวดล้อมด้วยสื่อสารพัดประเภท และสื่อสารมวลชนดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์กำลังกลายมาเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งมากกว่าเป็นทางเลือกหลักของเนื้อหาอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมีรูปแบบการบริโภคที่ค่อนข้างเฉพาะตัว (customized) มากขึ้นเรื่อยๆ
“ไม่เพียงเฉพาะเด็กยุคใหม่เท่านั้นที่นิยมบริโภคเนื้อหาที่จัดวางและเลือกได้เองอย่าง การจัดทำเพลย์ลิสต์ (playlist) ของเพลง หรือรายการทีวีผ่านยูทูบ (YouTube) หรือการเข้าดูเฉพาะเนื้อหาที่กลุ่มเพื่อนแชร์มา
“แต่ผู้ใหญ่ที่ใช้สื่อใหม่เป็นก็มักจะบริโภคเนื้อหาที่แบ่งปันกันมาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เนื้อหาของสื่อสารมวลชนแบบดั้งเดิมไม่สามารถแพร่กระจายสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในประเทศไทย มีคนจำนวนหนึ่งในชนบทยังดูทีวีอยู่ ทำให้ทีวียังไม่ตายซะทีเดียว
แต่วันนี้ราคามือถือถูกลง ถ้าคนกลุ่มนั้นหันมาใช้มากขึ้น นั่นล่ะครับ โอกาสที่ทีวีตายมีมากขึ้นทันที
อีก 2 ปี สื่อทีวีจะตาย!?
การมาถึงของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่รายงานสดสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนผ่าน Facebook Live กับยอดผู้ชม ยอดไลก์ คอมเมนต์ และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ยอดคนไลก์เพจ 307,750 ไลก์ (10 ม.ค.) ยอดผู้ชมหลักแสนหรือหลายแสนต่อคลิป ในขณะที่สถานการณ์ข่าวและรายการทีวีโดยเฉพาะ เรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 กำลังร่วงดิ่ง ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การมาของสรยุทธคือ การเปลี่ยนผ่านของสื่อใหม่
เมื่อถามว่า สื่อทีวีจะตายไหม? ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ มองว่า “ในประเทศไทย มีคนจำนวนหนึ่งในชนบทยังดูทีวีอยู่ ทำให้ทีวียังไม่ตายซะทีเดียว แต่วันนี้ราคามือถือถูกลง ถ้าคนกลุ่มนั้นหันมาใช้มากขึ้น นั่นล่ะครับ โอกาสที่ทีวีตายมีมากขึ้นทันที แต่คงไม่ใช่ในระยะเวลาสองสามปีนี้ เพราะยังมีคนกลุ่มหนึ่งยังดูทีวีอยู่ เพียงแต่ตรงนี้มันน้อยลงไปเรื่อยๆ”
สอดคล้องกับผลสำรวจของ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น จำกัด องค์กรด้านวางแผนสื่อและตัวแทนขายโฆษณา ที่พบว่า ในปี 59 มีคนใช้อินเทอร์เน็ต ‘หน้าใหม่’ (New Internet User) ที่ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนต่างจังหวัด
โกดิจิทัล แต่คิดแบบแอนะล็อก อุปสรรคที่ทำให้สื่อทีวีล้าหลัง
การทำสื่อทุกวันนี้คล่องตัวขึ้นกว่ายุคก่อนมาก แค่สมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว ก็ถ่ายทอดสดได้แล้ว
ง่ายกว่า เร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า
ข้อเท็จจริงนี้ทุกคนรู้ดี แค่มีสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์เสริมอีกนิดหน่อย ก็ตั้งสถานีโทรทัศน์ของตัวเองได้แล้ว เช่น ชูวิทย์ที่หันมาทำรายการสดผ่านเพจ ‘ชูวิทย์ I’m Back’
หรือวู้ดดี้ที่น่าจะเป็นพิธีกรหรือคนทำทีวีคนแรกๆ ในประเทศที่ใช้ Facebook Live และเพจ ‘Woody’ เป็น ‘พื้นที่สื่อ’ อย่างจริงจัง
หากไม่นับปรากฏการณ์ ‘ชูวิทย์-สรยุทธ’ ที่เพิ่งเกิดช่วงต้นปี การย้อนมองดูการใช้สื่อออนไลน์ของ ‘วู้ดดี้’ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานแล้ว คำถามคือจนถึงวันนี้ที่กระแสออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำไมสื่อทีวีส่วนใหญ่ถึงยังคล้ายย่ำอยู่กับที่
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ กล่าวว่า “ถามว่าหลายคนรู้ไหมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หลายคนรู้ครับ แต่ผู้บริหารสื่อจำนวนไม่น้อยยังมองไม่ขาด เท่าที่ได้พูดคุย หลายๆ คนมักพูดว่า จะ ‘โกดิจิทัล’ คือเห็นความสำคัญของดิจิทัลนะ แต่ปัญหาคือยังคิดแบบแอนะล็อก ยังติดกับการมองแพลตฟอร์มแบบเดิม การเล่าเรื่องแบบเดิม นี่คืออุปสรรคสำคัญที่รั้งให้สื่อทีวีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ได้”
ผู้บริหารสื่อจำนวนไม่น้อยยังมองไม่ขาด เท่าที่ได้พูดคุย หลายๆ คนมักพูดว่า จะ ‘โกดิจิทัล’ คือเห็นความสำคัญของดิจิทัลนะ แต่ปัญหาคือยังคิดแบบแอนะล็อก
ออนไลน์คือโอกาส ทางออกของทีวีไทย
คำถามว่า ทีวีจะตายไหม? หรือการฟันธงว่า นี่คือยุคใหม่ของสื่อออนไลน์ อาจไม่ใช่การมองที่ถูกต้อง เท่ากับการมองว่าออนไลน์คือโอกาสมากกว่าอุปสรรค
ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานีทีวีที่ปรับตัวและใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างโดดเด่น ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ (2 ม.ค.) ว่า
“หากมองเทคโนโลยีว่าเป็นปัญหา ธุรกิจจะไปต่อไม่ได้ …แต่ต้องมองการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลเป็นโอกาส ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอคอนเทนต์ให้เข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกัน อย่างถูกที่ ถูกเวลา”
Cross-Platform คือกลยุทธ์ที่เวิร์คพอยท์จะใช้ในปีนี้ ด้วยการดึงคนดูจากทั้ง 2 หน้าจอ ให้มาอยู่กับคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งนี้ยังสร้างรายได้ให้แก่สื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่อยู่ในมืออีกด้วย
ในโลกที่มีตัวเลือก ‘สื่อ’ ให้เสพมหาศาล รอยต่อระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่เริ่มเลือนราง การคิดแบบแบ่งแยกออนไลน์-ออฟไลน์อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เท่ากับการมองว่าทั้งหมดนี้คือ ‘วิถีชีวิต’ ของคนยุคใหม่ ที่คนทำสื่อต้องศึกษาและปรับตัว
การมาถึงของสรยุทธ, ชูวิทย์ หรือการประกาศลุยออนไลน์เต็มตัวของวู้ดดี้ อาจไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ หวือหวา หรือต้องตื่นเต้น
เพราะทุกวันนี้แต่ละคนก็น่าจะรู้ดีว่า ในแต่ละวันเราใช้เวลากับ ‘จอ’ ไหนมากกว่ากัน