By Tangsiri -14/01/2017
https://brandinside.asia/simulcast-workpoint-and-radio/
เรียกว่าเป็นปรากฎการณ์ก็ไม่แปลกนัก เพราะตอนนี้ทุกสื่อดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ และวิทยุ ต่างหันมาออกอากาศแบบคู่ขนาน หรือ Simulcast บนแพลตฟอร์ม Facebook Live เพื่อเพิ่มช่องทางการับสื่ออีกทางหนึ่ง
ภาพ โดย Yatko
Workpoint กับความสำเร็จบนโลกโซเชียล
สำหรับฝั่งโทรทัศน์ ต้องยอมรับว่า Workpoint ของเสี่ยตา – ปัญญา นิรันดร์กุล เป็นช่องรายการแรกๆ ที่เลือกใช้กลยุทธ์ Facebook Live ในการเพิ่มฐานผู้ชมให้กว้างขึ้น ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จในการใช้ช่องทาง Social Media เพื่อโปรโมทรายการต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ โดยช่วงแรกเบอร์ 3 ของทีวีดิจิทัลเลือกแค่บางรายการในการออกอากาศคู่ขนานระหว่างช่องทางทีวีดิจิทัล และ Facebook Live แต่ปัจจุบันแทบจะเอาทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นวาไรตี้, ข่าว หรือละคร มาออกอากาศบนช่องทางนี้ทั้งสิ้น ที่สำคัญ ทุกๆ ครั้งที่ Live Streaming ก็มีผู้รับชมจำนวนมาก และคอมเมนต์กันมหาศาล
ก่อนหน้านี้ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เล่าให้ฟังว่า การออกอากาศบน Facebook Live เป็นการแจ้งเตือนผู้บริโภคให้มารับชมบนหน้าจอโทรทัศน์ ที่มีขนาดใหญ่ และสามารถรับชมได้พร้อมกันหลายๆ คน ซึ่งจะได้อรรถรสมากกว่า แต่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ผู้บริหารท่านนี้ได้โพสต์บน Facebook ส่วนตัวว่า “คนดูทาง live คืนนี้ ทำสถิติใหม่ มีคนดูพร้อมกัน สูงสุดอยู่ที่ แสนห้า คนดูรวมตลอดรายการ เกือบล้านเก้า เรตติ้งทางTV น่าจะทำสถิติใหม่” พร้อมแนบรูปรายการ The Mask Singer ไว้ใต้ข้อความ
ภาพจาก Facebook ของ Chalakorn Panyashom
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารคนนี้ยังบอกว่า หลังจากการออกกาศแบบคู่ขนานเกือบทุกรายการ ทำให้ Rating ทางโทรทัศน์เพิ่มขึ้นในทันที ดังนั้นการออกอากาศคู่ขนานไม่ใช่การฆ่าวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่เป็นการช่วยให้เติบโตไปด้วยกันมากกว่า ที่สำคัญประชากรไทยมีอยู่ 65.73 ล้านคน ส่วนสมาชิกแฟนเพจของ Workpoint บน Facebook มีเพียง 6.7 ล้านคน หรือ 10% ของประชากร แต่ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ทดลองออกอากาศคู่ขนาน สามารถเข้าถึงคนบนโลกออนไลน์ได้ถึง 67.23 ล้าน Reach และมีการรับชมวีดีโอถึง 30 ล้านคน รวมถึงเข้ามาพูดคุยกัน 29 ล้านคนอีกด้วย
ภาพจาก Facebook ของ Chalakorn Panyashom
พี่อ้อยพี่ฉอด ก็มาจัด Club Friday บน Facebook
และจากความสำเร็จนี้เอง ก็คงไม่แปลกที่จะเห็นรายการ รวมถึงช่องโทรทัศน์เริ่มใช้วิธีการออกอากาศแบบคู่ขนานบ้าง เช่น Voice TV ที่เริ่มออกอากาศรายการข่าวช่วงกลางคืนแบบคู่ขนาน ส่วนฝั่งคนดังก็เริ่มมีกันแล้ว เช่นสรยุทธ์ สุทัศนจินดา (สามารถติดตามเนื้อหาได้ที่นี่), ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หรือจะเป็น วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา ก็ต่างเดินหน้าใช้ Facebook Live ในการเผยแพร่เนื้อหาแล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือ รายการวิทยุ จากเดิมที่ถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ของตนเอง ก็เริ่มมาใช้แพลตฟอร์ม Facebook Live ในการเรียกยอดผู้ฟังเช่นเดียวกัน
ภาพจาก Facebook ของ Club Friday
โดยรายการล่าสุดที่เห็นว่ามีการใช้ Facebook Live คือรายการ Club Friday ที่เป็นรายการปรึกษาปัญหาหัวใจโดยพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล และพี่ฉอด – สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา โดยการไลฟ์ก็ไม่ได้เปิดกล้องแต่อย่างใด ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังฟังวิทยุอยู่จริงๆ และคาดว่าอนาคตจะมีรายการวิทยุเริ่มออกอากาศคู่ขนานด้วยวิธีนี้มากขึ้น เพราะสามารถเรียกผู้ฟังได้มากขึ้นแน่นอน ที่สำคัญส่วนใหญ่การฟังวิทยุจะเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง แต่การฟังในบ้านเป็นอะไรที่น้อยมาก ดังนั้นถ้าผู้บริโภคเลื่อนฟีดบน Facebook และเจอรายการ Live Streaming อยู่ ก็น่าจะเพิ่มผู้ฟังได้ทันที
สื่อเก่าจะตาย หรือเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ในความเห็นส่วนตัว มองว่าสื่อดั้งเดิมคงยังไม่หายไปในเร็ววันนี้ เพราะด้วยความครอบคลุมของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่มากพอ ทำให้คนในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่อับสัญญาณ ก็ยังต้องอาศัยการรับชม หรือรับฟังรายการต่างๆ ภายช่องทางดั้งเดิมอยู่ แต่ถามว่าถ้าสื่อเก่าไม่ปรับตัว และยังยึดติดกับแพลตฟอร์มเดิมๆ โอกาสที่พวกเขาจะถูก Digital Disruption ก็มีสูง สังเกตจากช่องทีวีดิจิทัลที่พ้นเรตติ้ง 6 ช่องแรกไปแล้ว คนรับชมก็น้อยอย่างเห็นได้ชัด ส่วนเรื่องรายการก็สำคัญ เพราะ Content in King ยังใช้ได้อยู่ถึงทุกวันนี้