เสวนา บทบาทสื่อกับกฎหมาย “ศาลเตี้ยออนไลน์…คนโพสต์จ่อคุก…เหยื่อทุกข์ระทม” การโพสต์ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดีย ถ้าข้อมูลเท็จผู้โพสต์และแชร์มีความเสี่ยงหมิ่นประมาทและผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ส่วนสื่อกระแสหลักควรช่วยส่งเสริมประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวสารบนออนไลน์ ต้องมั่นใจว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริง ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้านองค์กรสื่อก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผลักดันให้องค์กรสื่อต่างๆ มีคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อเปิดเป็นช่องทางในการกำกับดูแลกันเองของสื่อ
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเวทีเสวนาบทบาทสื่อกับกฎหมายหัวข้อ “ศาลเตี้ยออนไลน์…คนโพสต์จ่อคุก…เหยื่อทุกข์ระทม” โดยมีวิทยากร ดังนี้ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, ว่าที่พันตรีสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ , ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ ดำเนินรายการเสวนาโดย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง สังคมปัจจุบันที่มีสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก จากผลการทำวิจัยเรื่องข่าวลือออนไลน์ทำให้ทราบว่าข่าวลือมักเกิดจากประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนกระแสหลักจะมีหน้าที่แก้ไขข่าวลือนั้นๆ ดังนั้นสื่อกระแสหลักควรช่วยกันทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากผลการวิจัยจะเห็นได้ชัดว่าข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค มักจะเป็นการสื่อถึงอารมณ์ของผู้โพสต์มากกว่าความต้องการที่จะสื่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งประชาชนจะไม่ทราบเลยว่าปัจจุบันระบบการฟีดข่าวบนเฟสบุ๊ค โปรแกรมของเฟสบุ๊คมักจะเลือกฟีดข่าวที่เจ้าของเฟสบุ๊คนิยมกดถูกใจ ทำให้การบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านเฟสบุ๊คเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนอาจทำให้เกิดเป็นความเชื่อในทิศทางเดียวได้ นอกจากนี้บนโลกออนไลน์ไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตน จึงทำให้การโพสต์ความคิดเห็นไม่ได้กลั่นกรองเท่าที่ควร
ว่าที่พันตรีสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวถึง ความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดในการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวสารในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … ว่าในเรื่องของความผิดฐานหมิ่นประมาท การโพสต์ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์หรือบนโซเชียลมีเดีย ถ้าเป็นข้อมูลเท็จจะมีความสุ่มเสี่ยงจะดูที่เจตนาหมิ่นประมาทหรือไม่ ส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … ถ้าโพสต์หรือแชร์ข้อมูลเท็จ จะถือว่าผิดทันที แต่กำลังจะมีการเพิ่มข้อความเรื่องการพิจารณาดูเจตนาในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เรื่องการโพสต์และแชร์ข้อมูลต่างๆ ควรพิจารณาและระมัดระวังทุกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องฝากทุกภาคส่วน เพราะกฎหมายมีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทอย่างมาก องค์กรสื่อก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลข่าวสารต่างๆ และต้องเรียนรู้เทคโนโลยีตลอด ข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดียจะเผยแพร่อย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก องค์กรสื่อจึงต้องระมัดระวังในการโพสต์หรือแชร์มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ได้พยายามให้ความรู้กับประชาชนให้สามารถรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ที่ไร้สังกัดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีลักษณะเว็บไซต์ที่คล้ายคลึงกับสื่อหลัก จึงอาจทำให้ประชาชนมีความสับสนและทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารผิดไปจากความเป็นจริง และอาจนำไปเผยแพร่ต่อไปบนออนไลน์ สำหรับในส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อก็มีคณะกรรมการดูแลจริยธรรม ประกอบกับพยายามผลักดันให้องค์กรสื่อต่างๆ มีคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อเปิดเป็นช่องทางในการกำกับดูแลกันเองของสื่อ
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวสารบนออนไลน์ ต้องมั่นใจว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริง ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งประชาชนต้องไม่ละเลยและมีความระมัดระวังทุกครั้งที่มีการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวสาร ส่วนเรื่องการโพสต์ภาพก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ต้องพิจารณาว่าเป็นภาพที่ถูกตัดต่อหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดเช่นกัน ทั้งนี้ถ้าพิสูจน์ได้ว่าโพสต์หรือแชร์ด้วยความสุจริตและเป็นธรรมก็ไม่ถือว่าผิด
จบจากเวทีเสวนาฯ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ ระหว่าง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
—————————————————————————–
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย