ผลการตัดสินรางวัลข่าว-สารคดีวิทยุและโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 19

IMG_4869

ผลการตัดสินรางวัลข่าว-สารคดีวิทยุและโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 19 ช่อง SD 28 / เนชั่นทีวี / ไทยรัฐทีวี และ ช่อง 3

คว้ารางวัลยอดเยี่ยมประเภทสารคดีเชิงข่าวและข่าวเหตุการณ์ไปครอง ส่วนรางวัลข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2558 ไม่มีผลงานเรื่องใดรับรางวัล

ผลการตัดสินและประกาศรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 19 รางวัลสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการยอดเยี่ยมคือ สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี และ รางวัลสารคดีเชิงประเภทข่าวยอดเยี่ยม คือ สถานีโทรทัศน์ SD 28 ส่วนรางวัลข่าวเหตุการณ์ ใน 2 ประเภทรางวัล คือ ข่าวเหตุการณ์รายงานสดยอดเยี่ยมผู้ได้รับรางวัลคือ  สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี และรางวัลประเภทข่าวเหตุการณ์ยอดเยี่ยม คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
(25 พ.ค.2559) พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน ในงานประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลการประกวดข่าว-สารคดีวิทยุและโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ครั้งที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจัดโดย มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

โดยมีผลงานและรายชื่อผู้ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ครั้งที่ 19 ประจำปี      พ.ศ. 2558 จากจำนวนผลงานเข้าประกวด ทั้งหมด   119 ข่าว แบ่งเป็น  ประเภทข่าวโทรทัศน์ยอดเยี่ยม 96 ข่าว จาก 14 สถานี / ประเภทข่าวและสารคดีโทรทัศน์ท้องถิ่นดีเด่น 9 ข่าว จาก 6 สถานี / ประเภทรายการข่าววิทยุ และ รายการวิทยุสร้างสรรค์สังคม  14 รายการ จาก 7 สถานี  โดยในแต่ละประเภทรางวัล ตามผลการตัดสินของคณะกรรมการดังนี้

1.รางวัลประเภทข่าวโทรทัศน์                                              

1.1รางวัลข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม         ไม่มีผลงานข่าวเรื่องใดและผู้ได้รับรางวัล แต่มีผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 ข่าว คือ   รายงานพิเศษชุด “สวมบัตร สวมสิทธิ์ ชีวิตใหม่”  จาก  สถานีโทรทัศน์ TNN 24   และ ข่าวเรื่อง “ลมหายใจสุดท้ายป่าพรุเกาะนางคำ”  จาก  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชมเชยทั้งสองเรื่องได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

1.2 รางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม         

ประเภทรายการ รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่  “แผ่นดินทองคำของใคร? ”  จาก  สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลชมเชย ได้แก่  “ชีวิตท่ามกลางสารปนเปื้อน”  จาก  สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

ประเภทข่าว รางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่  “โรฮิงญากับปัญหาการค้ามนุษย์”  จาก  สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทีวี SD ช่อง 28  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลชมเชย ได้แก่  “ไม้กฤษณา”  จาก  สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

1.3 รางวัลข่าวเหตุการณ์ยอดเยี่ยม

ประเภทข่าวเหตุการณ์รายงานสด รางวัลยอดเยี่ยม  ได้แก่  “เหตุการณ์ราชประสงค์”  จาก  สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลชมเชย  ได้แก่  “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”  จาก  สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

– ประเภทข่าวเหตุการณ์ยอดเยี่ยม รางวัลยอดเยี่ยม  ได้แก่  “ข่าวตำรวจ ปส.วิสามัญชาวเขาเผ่ามูเซอค้ายาบ้า”  จาก  สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลชมเชย  ได้แก่  “ระทึกขับรถไล่ล่าพ่อค้ายาบ้า จ.สุพรรณบุรี”  จาก  สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

2.รางวัลรายการข่าววิทยุและ รางวัลรายการวิทยุสร้างสรรค์สังคม  ยอดเยี่ยม          

2.1 รางวัลรายการข่าววิทยุยอดเยี่ยม  ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

รางวัลดีเด่น  ได้แก่ รายการข่าวเด่นประเด็นร้อน  จาก สถานีวิทยุ FM 96.5 MHz ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

รางวัลชมเชย  ได้แก่ รายการ “ครบเครื่องเรื่องข่าว”  จาก สถานีวิทยุ FM 100.5 MHz ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

2.2 รางวัลรายการวิทยุสร้างสรรค์สังคม  ยอดเยี่ยม       ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

รางวัลชมเชย  ได้แก่ รายการคิดระหว่างบรรทัด จาก สถานีวิทยุ FM 96.5 MHz ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

และ คณะกรรมการตัดสินเห็นว่าควรให้กำลังใจและส่งเสริมรายการจึงมอบเกียรติบัตร ประกาศชื่นชมรายการวิทยุสร้างสรรค์สังคม ให้แก่ รายการฉายตะวัน  จาก สถานีวิทยุ อสมท จ.ชัยภูมิ

3.ประเภทข่าว-สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ท้องถิ่นดีเด่น                                             

รางวัลข่าว-สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ท้องถิ่นดีเด่น ได้แก่  “เหยื่อตะกั่ว”  จาก  บริษัท มหาชัยเคเบิลทีวี จำกัด ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

รางวัลชมเชย  ได้แก่  “มัจจุราช 2043 ”  จาก  เสียงไทยแลนด์ เคเบิลทีวี จ.ร้อยเอ็ด ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

และจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด 119 ข่าว/เรื่อง นั้น คณะกรรมการตัดสินรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี พ.ศ. 2558 ได้มีข้อสังเกตโดยรวมว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ เป็นการยกระดับมาตรฐานในการทำสารคดีเชิงข่าวที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการสืบค้นข้อมูลในการทำสารคดีไม่ใช่แค่เป็นสารคดีเชิงข่าวที่มีภาพสวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้งภาพและเนื้อเรื่องที่นำเสนอก็มีความสอดคล้องสะท้อนเรื่องราวและข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างดี แต่อาจจะมีปัญหาบ้างที่ชื่อเรื่อง ธีม และเรื่องราวที่นำเสนอมีความขัดแย้งกันเอง

ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการส่งผลงานเข้าประกวดผิดประเภทรางวัล และบางประเภทรางวัลผลงานเรื่องเดียวแต่ส่งคลิปมาจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนคลิปรายการที่ส่งมาเป็นจำนวนมากอาจทำให้บางคลิปในผลงานชิ้นเดียวกันนั้นดึงให้ผลการพิจารณาตัดสินรางวัลต่ำลงไปด้วย เพราะความด้อยคุณค่า และด้อยคุณภาพของอีกหลายๆ คลิปที่ส่งมา ….คณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ต่อไปผู้ส่งผลงานเข้าประกวดควรมีความชัดเจนในเลือกคลิปผลงานที่จะส่งเข้าประกวดมาเอง ไม่ใช่เป็นการนำคลิปรายการทั้งหมดหลายๆ ตอนมาให้คณะกรรมการพิจารณาเลือกเอง

นอกจากนี้ในปีนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ ยังมีความเห็นว่า ผลงานหลายชิ้น มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ และในขณะเดียวกันก็มีผลงานหลายเรื่อง หลายประเด็นในบางประเภทรางวัล มาตรฐาน คุณภาพ คุณค่า กลับด้อยลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดบางอย่างของวงการโทรทัศน์ก็เป็นได้ โดยเฉพาะผลงานที่ส่งเข้าประกวดรางวัลข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนนั้น ผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ได้มีความเป็นข่าวเชิงสืบสวนอย่าแท้จริง แต่เป็นข่าวลักษณะการย้อนรอย และการติดตามเจ้าหน้าที่ภาครัฐลงพื้นที่ และผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่มีประเด็นใหม่ ไม่มีการสืบค้นการขยายผลข้อมูลเชิงลึก ขาดการขยายผลและพิสูจน์หลักฐานข้อเท็จจริง ขาดเงื่อนปมและการตีแผ่ข้อเท็จจริงให้เห็น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม คณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ จึงมีมติไม่มอบรางวัลยอดเยี่ยมให้กับผลงานเรื่องใดในประเภทนี้

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดประเภทรางวัลข่าวโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ใน 3 ประเภทรางวัล คือ รางวัลข่าวโทรทัศน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม / รางวัลสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ยอดเยี่ยม และ รางวัลข่าวเหตุการณ์ยอดเยี่ยม นั้น

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดประเภทข่าว-สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ดีเด่น นั้น มาตรฐานดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา มีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอดีขึ้นมาก เนื้อหาเข้ากรอบกติกาที่ได้กำหนดไว้ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับความเป็นสาธารณะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในชุมชนหรือจังหวัด ภาพที่ใช้ในการนำเสนอสามารถสื่อความหมายได้ดี ผู้สื่อข่าวมีความตั้งใจและความพยายามทำข่าวสืบสวนสอบสวนมากขึ้น บทสคริปต์เพื่อนำเสนอดี บางเรื่องสามารถนำมาออกสื่อหลักได้  บางเรื่องมีการนำกราฟิกเข้ามาใช้ เพื่อทำให้ข่าวมีความน่าสนใจมากขึ้นและสามารถอธิบายเรื่องยากให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่าย แต่บางเรื่องก็ยังมีปัญหาเรื่องเวลาการนำเสนอมีเวลานาน จึงทำให้ประเด็นที่ต้องการนำเสนอวน ภาพซ้ำไปซ้ำมา พอรายการยาวจึงต้องหาภาพมาใส่ บางเรื่องเป็นการรายงานข่าวเชิงประชาสัมพันธ์หน่วยงานมากกว่า  ซึ่งน่าจะชูประเด็นอื่นได้ ปัญหาเรื่องการลำดับเรื่อง ภาษาภาพการแตกช็อต หรือปัญหาการเล่าเรื่องประเด็นแตกเกินไปและควรสัมภาษณ์แหล่งข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านครบถ้วน

ส่วนความคิดเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการตัดสินรางวัลรายการข่าววิทยุและรางวัลรายการวิทยุสร้างสรรค์สังคม ยอดเยี่ยม  โดยรวมคือ ชื่นชมการทำรายการเชิงบวก ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมานำเสนอได้ยาก และ ชื่นชมคุณภาพของผู้ดำเนินรายการในเรื่องการใช้ภาษา ทัศนะคติดี ทำให้น่าฟัง เสียงดีมีคุณภาพ การนำเสนอดี ประเด็นมีความชัดเจน

รายการที่ส่งเข้ามามีประเด็นที่ต้องการนำเสนอที่ดี  ผู้สื่อข่าววิทยุยังคงมีความเข้าใจผิดในเรื่องข้อจำกัดของวิทยุที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ ซึ่งไม่ควรอ้างเรื่องนี้ บางเรื่องผู้ดำเนินรายการใช้คำพูดสอนผู้ฟังเกินไป และใส่ความคิดเห็นของตนเองมาจนเกินไป บางรายการจะเป็นลักษณะการประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานของรัฐจนเกินไปการเปิดเพลงหรือจิ้งเกิ้ลเข้ารายการนานเกินไป ทำให้ลดความน่าสนใจจากผู้ฟังได้     รูปแบบของรายการขาดการเชื่อมโยง การดึงดูดน่าสนใจ บางรายการผู้ดำเนินรายการคุยนอกประเด็นหรือคุยเล่นมากจนเกินไป ทำให้ขาดน้ำหนัก การนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาอ่านออกอากาศ เป็นรูปแบบการเล่าให้ชาวบ้าน มีลีลาทักษะการเล่าของผู้ดำเนินรายการดี   ขาดความหลากหลายน่าจะเติมอย่างอื่นได้ ถ้ามีการเติมองค์ประกอบการจัดเรียงข่าว การใส่ผู้สื่อข่าว สกู๊ปน่าจะดีกว่านี้   บางรายการเน้นผู้ดำเนินรายการให้มีความโดดเด่นมากกว่าการนำเสนอประเด็นที่ต้องการนำเสนอ การตั้งคำถามต้องทำให้เห็นภาพ มีความพยายามนำเสนอ ความชัดเจนกระบวนการให้เห็นภาพยังมีให้เห็นไม่มากเท่าที่ควร  บางรายการมีความเป็นกันเอง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านได้ดี เน้นการนำเสนอเรื่องท้องถิ่นเป็นหลัก แต่บางรายการก็ยังมีการใช้ภาษาที่ผิดความหมาย และควรทำให้รายการมีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้ฟังให้อยู่ฟังรายการตั้งแต่ต้นจนจบ    สำหรับความเป็นมาของ โครงการประกวดข่าว-สารคดีวิทยุและโทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ เริ่มเมื่อปี 2540 มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ กำหนดให้มีรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของ คุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นแบบอย่างของคนข่าวโทรทัศน์ และเพื่อพัฒนาการทำงานข่าวโทรทัศน์และเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าของผลงานผู้ชนะการประกวด โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวน

………………………………………………………………………..

ดาวน์โหลดเอกสาร Press Release งานประกาศผลรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ครั้งที่19-2558

แท็ก คำค้นหา