องค์กรวิชาชีพสื่อประชุมร่วมกับตัวแทนกองบรรณาธิการฯ ต่อการนำเสนอข่าวและการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม

logo3333

องค์กรวิชาชีพสื่อประชุมร่วมกับตัวแทนกองบรรณาธิการและตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ  ต่อการนำเสนอข่าวและการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมเมื่อ 19 พ.ค. 59 เพื่อถอดบทเรียนและหารือร่วมกัน สร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวเกิดขึ้นในสังคม 

วันนี้ (24 พ.ค.2559)  สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เชิญตัวแทนบรรณาธิการและตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ร่วมประชุมหารือถึงเสียงสะท้อนและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมต่อการทำหน้าที่และบทบาทของสื่อ ต่อการนำเสนอข่าวและการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมยอมรับว่าถึงแม้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่รายงานข่าวและถ่ายทอดสดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องได้พยายามทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพในการรายงานเหตุการณ์ด้วยความระมัดระวังแล้วก็ตาม แต่ก็มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ที่แปรผันและอยู่เหนือการควบคุมตลอดเวลาและทำให้เผยแพร่ภาพบางช่วงที่ไม่เหมาะสมและสร้างความตื่นตระหนก จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจากสังคม ที่ประชุมยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของสื่อมวลชน แต่ทั้งนี้ก็ยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการทำหน้าที่ตามหลักการการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและมีความสำคัญในเชิงคุณค่าข่าว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกรณีฆาตกรรมที่สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคมก่อนหน้านี้

ที่ประชุมเห็นร่วมกันที่จะยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาถอดบทเรียนและหารือร่วมกัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวเกิดขึ้นในสังคม ในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบที่นำแนวปฏิบัติจริยธรรมการรายงานข่าวที่ 5 องค์กรสื่อได้ร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการรายงานที่ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว เป็นแนวทางในการปฏิบัติ นอกจากนั้นในแต่ละกองบรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์จะกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำหน้าที่ตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนต่อไป  พร้อมๆ กับที่จะหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่สื่อมวลชน

ที่ประชุมขอแสดงความขอบคุณต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของสื่อมวลชนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และสร้างความตระหนักให้กับสื่อมวลชนในการรายงานเหตุการณ์ โดยเฉพาะการเสนอภาพข่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงและการเลียนแบบ

ที่ประชุมตัวแทนกองบรรณาธิการและตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มีความเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนได้ทบทวนบทบาทตนเองเพื่อนำไปสู่การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมต่อไป

—————————————————————–

แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน

โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว

        สืบเนื่องจากการปฏิบัติงานและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนในระยะที่ผ่านมา ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อผู้ตกเป็นข่าวในหลายเหตุการณ์ อาทิ การทำข่าวหรือถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสมของผู้เจ็บป่วย ผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ วินาศกรรม หรือเหตุรุนแรง ตลอดจนการรายงานข่าวและภาพข่าวของผู้ต้องหาที่ตำรวจนำมาแถลงข่าวหรือนำมาทำแผนประทุษกรรมอันอาจเป็นการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เห็นสมควรให้กำหนดแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ดังนี้

หมวด ๑ ผู้ปฏิบัติงานข่าว

ข้อ ๑ ในการทำข่าวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา

(๑) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และจำเลย

(๒) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการตั้งคำถามและกระทำการใด ๆ ในลักษณะชี้นำ กดดัน ซ้ำเติม หรือเป็นการดูถูกเหยียดหยามผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และจำเลย

ข้อ ๒ การทำข่าวอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรม ภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้าย หรือเหตุรุนแรง

(๑) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพผู้บาดเจ็บที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง

(๒) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงงดเว้นการถ่ายภาพผู้เสียชีวิต หากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ พึงระมัดระวังภาพผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต

ข้อ ๓ เมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล

(๑) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพผู้ป่วย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยโดยชัดแจ้ง

(๒) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงเคารพสิทธิผู้ป่วย โดยเฉพาะข้อมูลและความเป็นอยู่ของผู้ป่วย เว้นแต่ได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย

(๓) ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการกระทำใด ๆ อันอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และอาจเป็นการรบกวนผู้มาใช้บริการหรือญาติของผู้มาใช้บริการ และพึงปฏิบัติตามประกาศของสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๔ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงระมัดระวังการทำข่าวอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรม ภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้าย เหตุรุนแรง หรือการกระทำใด ๆ อันอาจขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๕ ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงเคารพสิทธิส่วนบุคคลในการได้มาซึ่งข้อมูลของผู้ตกเป็นข่าว

ข้อ ๖ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือภาพ หรือข้อมูลอื่นใดของเหยื่อ หรือพยาน หรือผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในการทำข่าว อันอาจนำมาซึ่งภยันตรายต่อบุคคลเหล่านี้

หมวด ๒ องค์กรสื่อมวลชน

ข้อ ๗ การเสนอข่าวหรือภาพข่าวผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย และผู้เสียหาย ในคดีอาญา

(๑) สื่อมวลชนพึงงดเว้นการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลและภาพข่าวที่แสดงอัตลักษณ์ของบุคคลที่เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย

(๒) สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวเครื่องพันธนาการใด ๆ ของผู้ต้องหาและจำเลย

(๓) สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำในการนำเสนอข่าวเชิงตัดสินหรือเกินข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ต้องหากระทำผิดไปแล้ว หรือเชิงประณามที่เป็นการชี้นำให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง

(๔) สื่อมวลชนพึงระมัดระวังการนำเสนอข่าวจากสำนวนคดี อันอาจเป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกที่ผู้เสียหายได้รับ

ข้อ ๘ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าวผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ วินาศกรรม และสถานการณ์รุนแรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือน่าเวทนา

ข้อ ๙ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิต ในกรณีที่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือแก่ทางราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถนำเสนอได้โดยต้องหลีกเลี่ยงภาพในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิต

ข้อ ๑๐ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอภาพผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่ตกเป็นข่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วย

ข้อ ๑๑ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวของผู้เคราะห์ร้ายหรือญาติซ้ำ ๆ ที่เป็นการตอกย้ำความรุนแรง และความทุกข์โศกของผู้เคราะห์ร้ายและญาติ

ข้อ ๑๒ สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลอื่นใดอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้น

ข้อ ๑๓ สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำและสรรพนามเชิงเหยียดหยามหรือไม่เหมาะสมกับเพศ วัย สถานภาพ และชาติพันธุ์ ของเหยื่อ ผู้เคราะห์ร้าย หรือบุคคลทั่วไปที่ตกเป็นข่าว

ข้อ ๑๔ สื่อมวลชนพึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลหรือภาพข่าว หรือข้อมูลอื่นใดของพยาน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่พยาน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้น

 

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙

ดาวน์โหลดเอกสาร

แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน

Press Release ประชุมร่วม บก.- องค์กรสื่อ

แท็ก คำค้นหา