แถลงการณ์ร่วม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
3 พฤษภาคม 2547
ตามที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก(World Press Freedom Day) นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาและเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2547 (World Press Freedom Day 2004) ร่วมกับ เพื่อนสื่อมวลชนทั่วโลกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคม นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทยขอแสดงความชื่น ชมยินดีต่อเพื่อนสื่อมวลชนไทยที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชนที่ดีด้วยความเป็นอิสระและร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของ สื่อมวลชนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบด้านจริยธรรมที่มีต่อผู้บริโภคข่าวสารและ สังคมไทยโดยส่วนรวม ในโอกาสนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทยขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวชนตลอดจนประชาชนคนไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ในฐานะผู้บริโภคข่าวสาร ให้ร่วมกับตระหนักถึงประเด็นปัญหาทางด้านกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลที่เป็น อุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสวงหาความจริงและแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพใน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 ดังต่อไปนี้
1. โดยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ารัฐบาล และบุคคลในรัฐบาลยังคงใช้มาตรการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยใช้ อำนาจต่อรองทางธุรกิจที่มีผลต่อความอยู่รอดของสื่อมวลชน ทั้งด้วยวิธีการผ่านทางงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มี ส่วนเกี่ยวข้องและการเข้าถือหุ้นในกิจการ ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ (Editorial Independence) ว่าจะยังสามารถนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมืองได้หรือไม่
2. หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 และ 41 ยังไม่ได้รับการเคารพอย่างจริงจัง จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายขึ้นมารองรับอย่าง เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันการแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการ
3. รัฐบาลควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ โดยการเร่งปรับปรุงวิธีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐตามบทบัญญัติในพระ ราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ให้มีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากและรวดเร็วและเป็นไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
4. การปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 40 ยังคงไม่ได้รับความสำคัญจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะการเร่งรัดกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ……………… ในทางกลับกันกลับมีความพยายามที่จะบิดเบือนเจตนารมณ์ด้วยการแก้ไขร่างกฎหมาย ให้มีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์กับสื่อมวลชนของรัฐให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เหนือสื่อของเอกชน
5. ยังคงไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 โดยปราศจากเงื่อนไข ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้เรียกร้องและนำเสนอต่อรัฐบาลชุดนี้ตลอด3ปี เศษที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและขัดต่อรัฐธรรมนูญในทางกลับกัน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจต่อการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อ การสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน
6. สมาคมทั้งสอง มีความห่วงใยต่อการทำหน้าที่ของเพื่อนสื่อมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาการก้าวล่วงเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ตก เป็นข่าว จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่แสวงหา และนำเสนอข่าวสารโดยยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2547