แถลงการณ์ร่วม เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

แถลงการณ์ร่วม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย-สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
3 พฤษภาคม 2546

 

ตามที่องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ประจำปี 2546 (World Press Freedom Day 2003) ร่วมกับเพื่อนสื่อมวลชนทั่วโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทย ขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อเพื่อนสื่อมวลชนไทย ที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ดี ด้วยความเป็นอิสระและร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบด้านจริยธรรมที่มีต่อผู้บริโภคข่าวสารและสังคมไทย โดยส่วนรวม

 

ในโอกาสนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทยขอ เรียกร้องไปยังรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนคนไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆในฐานะผู้บริโภคข่าวสารให้ร่วมกัน ตระหนักถึงประเด็นปัญหาทางด้านกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลที่เป็นอุปสรรคต่อ การใช้เสรีภาพในการแสวงหาความจริงและแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ.2540 ดังต่อไปนี้

 

1. แม้ว่าการข่มขู่คุกคามโดยตรงทั้งทางร่างกายและทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ของตนภายใต้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะไม่ปรากฎเห็นชัดในปัจจุบัน แต่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าบุคคลบางคนในรัฐบาล ยังคงใช้มาตรการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจแฝงที่มีอยู่ในกฎหมายต่างๆที่ล้าสมัย รวมทั้งอำนาจต่อรองทางธุรกิจที่มีผลต่อความอยู่รอดของสื่อมวลชน

 

2. รัฐบาลยังคงเมินเฉยต่อการเรียกร้องของสื่อมวลชนและสังคม ในการเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 โดยไม่มีเงื่อนไขเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในทางกลับกัน รัฐบาลยังแสดงท่าทีว่าอยากจะให้กฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้ต่อไป เพราะเห็นว่ายังมีประโยชน์ในการรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล

 

3. รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการผลักดันให้แก้ไขกฎหมายที่เป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ โดยจะเห็นได้จากการไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540

 

4. ความชะงักงันของการบังคับใช้มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์พ้นจากการควบคุมของรัฐ อีกทั้งยังขาดความจริงใจในการส่งเสริมการเกิดขึ้นของสถานีวิทยุชุมชนที่เป็นความ ริเริ่มของคนในชุมชน

 

5. ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้อำนวยการยูเนสโกที่ต้องการให้รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสืบสวนเพื่อนำเอาผู้ที่ข่มขู่และทำร้ายสื่อมวลชนที่ประกอบวิชาชีพโดยชอบ รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันสอดส่องและปกป้องสื่อมวลชนให้สามารถแสวงหาความจริงมานำเสนอได้อย่างเสรี

 

ทั้งสองสมาคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคส่วนต่างๆในสังคมไทย โดยเฉพาะภาครัฐบาลจะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชน ในฐานะที่เป็นสถาบันที่มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ด้วยการร่วมกันสนับสนุนให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้โดยปราศจากการคุกคามและแทรกแซงในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งร่วมกันตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่มีต่อสังคมอีกด้วย

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2546

แท็ก คำค้นหา