บันทึกอาเซียน ASEAN DIARY : “ข่าวอาเซียนหลังการประชุมสุดยอด”
หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ ชะอำ-หัวหิน จบสิ้นลง ข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนในสื่อมวลชนไทยยังคงอ้อยอิ่ง หลงเหลืออยู่บ้างในสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ ข่าวอาเซียนในส่วนของสื่อวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์นั้นก็ยุติลงเหมือนจบสิ้นภารกิจ จะยกเว้นก็แต่รายการโทรทัศน์ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรงเท่านั้น
หากสื่อมวลชนโดยรวมให้ความสนใจเรื่องอาเซียนเสมือนเป็นมหกรรมที่ต้องจัดงานใหญ่จึงจะเกิดข่าว หากไม่จัด ก็จะไม่มีข่าว หากสื่อมวลชนปฏิบัติเช่นว่านี้ต่อกิจกรรมของอาเซียน การสร้างฝันเรื่องประชาคมอาเซียน วิสัยทัศน์เดียว (One Vision) อัตลักษณ์เดียว (One Identity) และ ประชาคมเดียว (One Community) ก็จะล่าช้าต่อไปอย่างไม่มีทางกำหนดวันเดือนปีเป้าหมายได้ เพราะสังคมที่ไม่มีข่าวสาร หรือไม่มีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ก็จะไม่มีการทำความรู้จักเข้าใจกัน และจะไม่มีความเป็นสังคม ท้ายสุดก็จะกลับไปเป็นสมาคมอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ต่างคนต่างอยู่ มาประชุมหารือกันก็ในระดับราชการ และจะคุยกันแต่เรื่องปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างมีและอยากแก้ปัญหาเฉพาะส่วนที่ประเทศตนเองได้ประโยชน์เท่านั้น
ในเมื่ออาเซียนเพิ่งจะเริ่มมีกฎเกณฑ์ใช้เป็นกรอบปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า “กฎบัตรอาเซียน” หรือ “ASEAN Charter” สภาพความไม่ตื่นตัวของสื่อมวลชนไทยในเรื่องข่าวสารอาเซียน แม้จะสะท้อนภาพที่น่าห่วงใยในอนาคต แต่ก็ยังไม่ถือเป็นปัญหา เพราะอาจพออนุโลมให้เป็นไปเช่นนี้ก่อนในระยะนี้ ถ้าพอจะมีข่าวอาเซียนได้อ่านได้ฟัง ได้ชมกันอยู่บ้างเป็นระยะ ๆ นาน ๆ ครั้ง ก็ถือว่าน่าจะพอใจ เพราะประเทศไทยมีข่าวสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองให้รายงานกันมากจนล้น แต่ในระยะยาว หากบรรณาธิการข่าวของสำนักข่าวต่าง ๆ จะจัดสรรงานเฉพาะเรื่องอาเซียนให้เป็นตำแหน่งหรือกลุ่มกองบรรณาธิการประจำก็จะดีมาก เช่นมีโต๊ะข่าวอาเซียน เปิดคอลัมน์ประจำเกี่ยวกับอาเซียน (เช่น “บันทึกอาเซียน” ของ”เดลินิวส์” ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้) ผลิตรายการประจำออกอากาศทางโทรทัศน์ โดยอาจจะเป็นข่าวสั้น ๆ ทุกวัน รายการประจำทุกสัปดาห์ หรือถ้าหากสำนักข่าวใดมีกำลังงบประมาณและบุคลากรพอ ก็สามารถแต่งตั้งผู้สื่อข่าวประจำอาเซียนเดินทางตระเวนทำข่าวไปทั่วทั้ง 10 ประเทศอาเซียนได้ตลอดเวลา
สำหรับผมเองในปีนี้ มีงานผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับอาเซียนโดยทุนอุดหนุนส่วนหนึ่งจากกระทรวงการต่างประเทศ และงบประมาณโฆษณาและประชาสัมพันธ์จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ตลอดปีที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนนี้ ผมสามารถผลิตรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับอาเซียนได้อย่างไม่ขาดทุน โดยมีรายการออกอากาศรวมสี่รายการดังนี้:
1. “บันทึกอาเซียน” ไทยทีวีสี ช่อง 3 รายการโทรทัศน์ รายวัน ความยาว 3:30 นาที
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05:10-05:15 น. (ช่วงท้าย ในรายการ “โลกยามเช้า” ซึ่งออกอากาศเวลา 04:55-05:15) วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 05:25-05:30 น. (ช่วงท้าย ในรายการ “โลกยามเช้า” ซึ่งออกอากาศเวลา 05:10-05:30)
2. “สัปดาห์อาเซียน” ไทยทีวีสีช่อง 3 รายการโทรทัศน์ รายสัปดาห์ ความยาว 20 นาที
วันเสาร์ เวลา 05:35-05:55 น.
3. “อาเซียน ๒๕๕๒” ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. รายการโทรทัศน์ รายสัปดาห์ ความยาว 30 นาที
วันจันทร์ เวลา 07:30-08:00 น.
4. “ทัศนาอาเซียน” TNN1/True Visions 7 รายการโทรทัศน์ รายสัปดาห์ ความยาว 30 นาที
วันเสาร์ เวลา 17:05 -17:30 น.
ผมมีทีมงานประมาณ 15 คน มีกล้องวิดีโอคุณภาพดีเพียงสองตัวในช่วงเริ่มแรก และเมื่อพอมีเงินก็สามารถซื้อเพิ่มอีกได้รวมเป็นสี่ตัว มีงบประมาณเตรียมไว้เพื่อการเดินทางตลอดปีทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลิตข่าวสารทางโทรทัศน์ให้ผู้ชมที่สนใจได้รับประโยชน์เท่าที่กำลังทุนและบุคลากรอันจำกัดจะทำได้ ตลอดทั้งปีครึ่งของการทำงาน ผมคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาท รวมกับอีกราว 10 ล้านบาทสำหรับโครงการผลิตสารคดีบันทึกลงแผ่น DVD ตามนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจกจ่ายทั่วประเทศ
ในฐานะกลุ่มของผมเป็นองค์กรขนาดเล็กมาก ผมก็ช่วยอาเซียนได้เท่านี้ หากสถานีโทรทัศน์ทั้งสถานี คิดจะทำทำนองเดียวกันกับที่ผมทำย่อมจะทำได้มากกว่าอย่างมหาศาลโดยแทบจะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณอะไรมากเพิ่มขึ้น เพราะมีทุกอย่างพร้อมแล้ว เพียงแต่ให้มีนโยบาย หรือ “หัวใจ” ที่จะทำงานเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนจริงๆเท่านั้นเอง งานข่าวสารเพื่ออาเซียนก็จะกลับมาคึกคักเหมือนมีการประชุมสุดยอดตลอดปีและทุกปีได้เลย
สมเกียรติ อ่อนวิมล
10 มีนาคม 2552