โพสต์ทูเดย์ – “กรณ์” ชี้รัฐบาลเตรียมเม็ดเงินใหม่อัดฉีดเศรษฐกิจ 4.5 แสนล้านบาท
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยในการเสวนาเรื่อง “กอบกู้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” ว่า รัฐบาลจะอัดฉีดเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปีครึ่งนับต่อจากนี้ โดยจะมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญคือ การตั้งงบประมาณกลางปี 2552 เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 13 ม.ค. 2552 จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 ม.ค. 2552 ซึ่งจะเบิกจ่ายได้เร็วภายใน 2-3 เดือน
นอกจากนี้ ในการจัดทำปีงบประมาณปี 2553 ซึ่งจะมีการพิจารณาในเร็วๆ นี้ รัฐบาลจะเสนอให้มีการตั้งงบประมาณขาดดุลอีกไม่น้อยกว่า 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากรวมกับงบประมาณขาดดุลปกติในปี 2551 วงเงิน 2.5 แสนล้านบาทแล้ว เท่ากับว่ารัฐบาลจะใช้เม็ดเงินอัดฉีดเศรษฐกิจรวม 7 แสนล้านบาท
นายกรณ์ กล่าวว่า งบกลางปี 1 แสนล้านบาท จะมุ่งส่งผ่านเงินไปยังประชาชนผู้มีรายได้น้อย โครงการเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุข เพราะจะทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีรายได้ใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบได้ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาการว่างงาน โดยจะมีแนวทางเข้าไปยับยั้งไม่ให้บริษัทปลดคนงานมากขึ้น อีกส่วนจะให้สถาบันการเงินรัฐเข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ
“เม็ดเงินจะถึงมือคนรายได้น้อยทันที โดยไม่ต้องผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เวลาพิจารณาโครงการนาน อย่างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์” นายกรณ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า ปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องราคาสินค้าเกษตรซึ่งที่ผ่านมาราคาตกต่ำลงมาก เนื่องจากขาดกำลังซื้อในตลาดโลก ปัญหาต่อมาคือ ภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย รวมถึงการว่างงานที่มีแนวโน้มว่าบริษัทต่างๆ จะปรับลดพนักงาน
ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมโครงการให้เกิดแรงจูงใจในการจ้างงานต่อ และเตรียมหางานให้ผู้ตกงานไปทำงานในต่างจังหวัด ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องดำเนินงานร่วมกับธนาคารต่างๆ
“รัฐบาลมีเวลาน้อยในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจได้คือ การแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นความเสี่ยงและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปลายเดือนก.พ. เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยกลับสู่สภาวะปกติ และจะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้” นายกรณ์ กล่าว
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิมพ์ธนบัตรเข้าระบบเพิ่มนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ธปท.สามารถเพิ่มสภาพคล่องในระบบเพื่อให้มีเม็ดเงินในระบบมากขึ้นได้ ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับธปท. เพราะมีเครื่องมืออยู่แล้ว
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552