ฉนวนกาซา เรื่องราวบนเส้นทางของปัญหาปาเลสไตน์

โดย ศราวุฒิ อารีย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉนวนกาซาเป็นชื่อดินแดนที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อใดก็ตามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ล่าสุดชื่อของฉนวนกาซาก็ปรากฏออกมา ตามสื่อต่างๆ อีกครั้งหลังจากที่อิสราเอลใช้กำลังเข้าโจมตีดินแดนแห่งนี้อย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายร้อยคน

บทความนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับฉนวนกาซานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันจะเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้

ฉนวนกาซาเป็นดินแดนที่มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 370 ตารางกิโลเมตร ซึ่งติดกับประเทศอียิปต์ อันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์ในยุคที่ตกอยู่ภายใต้ดินแดนอาณัติของอังกฤษ (British Mandate)

หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก (ค.ศ.1948-1949) ดินแดนกาซาก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอียิปต์ แต่ไม่ได้ถูกผนวกเข้ารวมเป็นประเทศเดียวกัน สถานะของกาซาขณะนั้นจึงเป็นเขตปกครองตนเอง

หากจะเปรียบเทียบกับดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือที่เรียกว่า “เวสต์แบงก์” (West Bank : ทั้ง 2 ดินแดนถูกกำหนดให้เป็นรัฐเอกราชปาเลสไตน์ในอนาคต) ต้องถือว่ากาซามีขนาดที่เล็กกว่ามาก อีกทั้งประชากรยังมีฐานะยากจนกว่า อันเกิดจากการที่กาซามีผลิตผลทางการเกษตรที่น้อยกว่า มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด เป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร และประชากรส่วนมาก 3 ใน 4 เป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ต่างๆ

ฉนวนกาซาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอลครั้งแรกหลังสงครามปี 1956 อันถือเป็นห้วงเวลาแรกของการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังยึดครองอิสราเอล จนนำไปสู่การต่อต้านด้วยอาวุธของชาวปาเลสไตน์ในที่สุด

ผู้นำกลุ่มฟาตะห์ (Fatah) ส่วนใหญ่เริ่มก่อร่างสร้างอุดมการณ์ของกลุ่มที่นี่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ชาตินิยมปาเลสไตน์

กองกำลังอิสราเอลถอนตัวออกจากกาซาในปี 1957 แต่กลับมายึดครองอีกครั้งหลังสงคราม 6 วัน ปี 1967 ทำให้ประชาชนลุกขึ้นใช้กำลังต่อต้านการยึดครองด้วยตนเองโดยปราศจากการหนุนหลังจากฝ่ายใด แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ถูกปราบปรามอย่างหนักจนต้องยุติการต่อต้านลง

ชัยชนะของอิสราเอลครั้งนั้นนำไปสู่การจัดตั้งถิ่นฐานใหม่ของนิคมชาวยิว (Jewish Settlements) ตลอดจนนำเอาเศรษฐกิจของกาซาเข้าไปผนวกรวมไว้กับอิสราเอล

ดังจะเห็นได้ว่าทุกๆ วันประชาชนชาวกาซาที่เป็นแรงงานเกือบครึ่งหนึ่งจะต้องข้ามไปอิสราเอลเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ไปค้าขาย หรือทำงานในภาคบริการ

การที่ชาวกาซาต้องต่อสู้ดิ้นรนกับชีวิตที่ยากลำบาก ทำให้พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของการส่งลูกหลานให้ศึกษาต่อในระดับที่สูง

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบกับดินแดนอาหรับอื่นๆ ชาวปาเลสไตน์ (โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในกาซา) จะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษามากที่สุด

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือของ UN Relief and Work Agency for Palestine Refugees หรือ UNRWA

แต่ปัญหาก็คือ เยาวชนพวกที่มีการศึกษาเหล่านี้ไม่มีงานรองรับในบ้านเกิดของตน จึงต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น

นับตั้งแต่ปี 1973 มีการติดต่อกันเพิ่มขึ้นระหว่างชนชั้นนำของเขตเวสต์แบงก์และกาซาจนนำไปสู่การจัดตั้ง “องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือพีแอลโอ (PLO) ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่จะสร้างรัฐอิสระขึ้นมาภายในดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครอง

แต่การเคลื่อนไหวของพีแอลโอในกาซาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนักอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัย ประชาชนไม่ค่อยมีความสามัคคีกันมากนัก

อีกทั้งในกาซายังเป็นฐานกำลังของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามอย่าง ขบวนการ “ภราดรภาพมุสลิม” ซึ่งมีอุดมการณ์และจุดยืนที่แตกต่างจากกลุ่มพีแอลโอ

ด้วยเหตุนี้ ในบางช่วงเวลา อิสราเอลจึงเมินเฉยต่อการเติบโตของขบวนการอิสลามเพื่อให้เป็นตัวถ่วงดุลอำนาจกับกลุ่มพีแอลโอในกาซา

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ ขบวนการฮามาส (Hamas) ซึ่งแตกหน่อออกมาจากขบวนการภราดรภาพมุสลิม จึงก่อกำเนิดขึ้นและเป็นพลังอำนาจที่ท้าทายทั้งกลุ่มพีแอลโอ และกองกำลังยึดครองอิสราเอลในกาซาในเวลาต่อมา

เริ่มต้นจากการลุกฮือขึ้นของขบวนการประชาชนต่อต้านอิสราเอลครั้งแรก หรือที่เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อินติฟาเฎาะห์” (Intifadah) ในปี 1987

ภายใต้การเจรจาสันติภาพและกระบวนการออสโล (Oslo Process) ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1993 อันมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การจัดตั้งรัฐเอกราชปาเลสไตน์ขึ้นภายใน 5 ปี

ผลจากกระบวนการดังกล่าวนี้ ทำให้พีแอลโอยอมรับการคงอยู่ของอิสราเอล เพื่อแลกกับอำนาจผูกขาดทางการเมืองและการทหาร ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองในระยะเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า “คณะปกครองปาเลสไตน์” (Palestinian Authority : PA) ขึ้นมา

สนธิสัญญาออสโลกำหนดให้กาซาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะปกครองปาเลสไตน์ แต่จนกระทั่งเวลาล่วงไป 5 ปีตามกำหนด ปรากฏว่าคณะปกครองปาเลสไตน์ก็ยังควบคุมดินแดนกาซาได้เพียงแค่ร้อยละ 70 ที่ประกอบไปด้วยพลเรือนมากกว่า 1 ล้านคน พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นที่ตั้ง ถิ่นฐานใหม่ของนิคมชาวยิวซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 16 แห่ง อันประกอบไปด้วยประชากรเพียงแค่ 7,000 คน และเป็นพื้นที่ส่วนที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในกาซา

อิสราเอลได้อ้างถึงความมั่นคงปลอดภัยของนิคมชาวยิว จึงได้แบ่งพื้นที่กาซาออกเป็น 3 ส่วน แล้วใช้รั้วลวดหนามไฟฟ้ากั้นดินแดนระหว่างกาซากับอิสราเอล นับตั้งแต่ปี 2002 อิสราเอลได้ทยอยส่งครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีส่วนพัวพันกับ “การก่อการร้าย” เข้าไปอยู่ในกาซา

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้รายงานข่าวต่างประเทศมักเรียกดินแดนกาซาว่าเป็น “กรงขังขนาดใหญ่” สำหรับชาวปาเลสไตน์

การปราบปรามขบวนการประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลครั้งที่ 2 หรืออินติฟาเฎาะห์ (ปี 2000) ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของดินแดนกาซาหลายส่วนถูกทำลาย เช่น ท่าเรือและสนามบินที่สหภาพยุโรปช่วยสร้างให้

นอกจากนั้น องค์กรเฝ้าติดตามด้านสิทธิมนุษยชนยังรายงานว่าเพียงแค่ช่วงเวลาสองปี กองกำลังอิสราเอลได้ทำลายบ้านเรือนประชาชนไปมากกว่า 600 หลังและที่เสียหายบางส่วนอีกกว่า 600 หลัง พื้นที่เพาะปลูกกว่าร้อยละ 7 ถูกทำลายภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งปี นำไปสู่สภาพการดำรงชีวิตของชาวปาเลสไตน์ที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ประชากรกว่าร้อยละ 65 ไม่มีงานทำ และอีกกว่าร้อยละ 80 มีฐานะที่ต่ำกว่าขีดความยากจน คือมีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน

นับตั้งแต่ฮามาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2006 และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอิสราเอล (โดยการสนับสนุนของสหรัฐ) ได้ใช้นโยบายปิดล้อมดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศบอยคอตรัฐบาลฮามาสของปาเลสไตน์ และระงับการโอนเงินที่ได้จากการเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลปาเลสไตน์

หลังจากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ ประเทศผู้บริจาคทั้งหลาย รวมถึงสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด จึงได้ระงับการช่วยเหลือโครงการพัฒนาทั้งหมดที่เคยให้แก่ชาวปาเลสไตน์

ผลจากการ “ทำโทษแบบเหมารวม” (Collective Punishment) ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึกครองค่อยๆ ย่ำแย่ลง

ต่อมาเมื่อกลุ่มฮามาสเข้ายึดครองกาซาในเดือนมิถุนายน 2007 อิสราเอลจึงได้ใช้นโยบายผ่อนปรนต่อเวสต์แบงก์มากขึ้น แต่กลับใช้มาตรการปิดล้อมที่เข้มข้นต่อดินแดนกาซา

อิสราเอลใช้ข้ออ้างเรื่องขีปนาวุธที่ถูกยิงเข้ามาในประเทศจากกาซา ตัดสินใจประกาศให้กาซาเป็น “ดินแดนศัตรู” (hostlle entity) โดยงดการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงให้แก่กาซาและจำกัดปริมาณคนปาเลสไตน์ที่เดินทางเข้า-ออกอิสราเอลให้เหลือน้อยลง

นอกจากนั้นอิสราเอลยังจะลดการส่งจ่ายอาหารและสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในกาซาอีกด้วย

นโยบาย “ทำโทษแบบเหมารวม” ของอิสราเอลมักส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำรงชีพของพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ความจริงการลงโทษแบบเหมารวมเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศที่ระบุว่ากลุ่มชนมิอาจจะถูกลงโทษในความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้นได้

มาตรการปิดล้อมในดินแดนกาซานั้น ก่อให้เกิดการสูญเสียมากมายและได้ทำลายวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนที่นั้นในหลายๆ แง่มุม

ฉนวนกาซาถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นกรงขังขนาดใหญ่ที่ไม่มีทางออกไปสู่โลกภายนอก โดยปกติฉนวนกาซาจะมีทางเชื่อมต่อกับโลกภายนอกอยู่ 2 ทางหลักๆ นั้นคือ ทางผ่านที่เมืองรอฟะห์ (Rafah) ในทางทิศใต้ (ไปสู่อียิปต์) และทางผ่านอิเรซ (Erez) ในทางทิศเหนือ (ไปอิสราเอล)

นอกจากนั้น ก็ยังมีทางผ่านอื่นๆ อีก 3 ทางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นทางผ่านที่นำอาหารเข้ามาในฉนวนกาซา แต่ในปัจจุบันทางผ่านเกือบทั้งหมดถูกปิด

มาตรการต่างๆ ของอิสราเอลดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะโดดเดี่ยวกาซาภายใต้การปกครองของกลุ่มฮามาส ประชาชนพลเมืองกาซาจะต้องเผชิญกับปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจจากนโยบายปิดล้อมของอิสราเอล และตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกอิสราเอลโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนในกาซาเปลี่ยนความคิดเข้าข้างรัฐบาลของกลุ่มฟาตะห์ในเวสต์แบงก์ อันจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลฮามาส

แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับเป็นสิ่งตรงข้าม เพราะนับวันฮามาสยิ่งมีคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น บ้านเมืองในกาซามีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยากจากการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจก็ตาม

และที่สำคัญคือกองกำลังฮามาสมีความเข้มแข็งและถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น ฉะนั้น จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อิสราเอลต้องตัดสินใจใช้กำลังเข้าปราบปรามฮามาสในกาซาอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์ได้ผ่านประสบการณ์ความชอกช้ำเจ็บปวดมาอย่างสาหัส บ้านของพวกเขาต้องถูกทำลาย เพื่อนพ้องญาติมิตรถูกฆ่าตาย เกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามครั้งแล้วครั้งเล่า

นโยบายการปิดล้อมกาซาและการใช้กำลังบุกโจมตีนำมาซึ่งความรู้สึกในเชิงลบแบบเก่าอย่างที่พวกเขาเคยประสบมาตลอด

สิ่งที่จะตามมาก็คือ การเติบโตของลัทธิสุดโต่งที่ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา พัฒนาการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมภายในของปาเลสไตน์เอง ตลอดรวมถึงสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและโลกโดยรวม

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2552 หน้า 7

แท็ก คำค้นหา