องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการพื้นฐานของเสรีภาพการแสดงความเห็นนและการแสดงออก ซึ่งในปี2556 ยูเนสโกได้จัดให้มีการรณรงค์ในเรื่องความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเน้นการส่งเสริมให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถเข้าถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงและคุกคาม เสรีภาพของสื่อมวลชน มีความสัมพันธ์กับเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของบุคคล หากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ ก็ยากที่บุคคลจะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออก เนื่องจากบุคคลต้องใช้ในเสรีภาพดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ
สำหรับบรรยากาศการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกประเภท ในยุคที่มีการบรรจบกันของเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเทศโนโลยีสารสนเทศ สังคมไทยได้เกิดสื่อขึ้นอย่างมากมาย แต่ละฝ่ายได้เปิดดำเนินการสื่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างใช้สื่อเพื่อรายงานข่าว ความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ส่งผลให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกสังคมตั้งคำถามถึงการใช้เสรีภาพ ว่ามีส่วนที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ความแตกแยก ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ละเมิดกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพของบุคคลอื่นเสียเอง นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวหาและข้อสงสัยอีกจำนวนมาก เช่น ความไม่เป็นกลาง, สื่อเลือกข้าง ,สื่อไม่ได้สร้างหรือเปิดพื้นที่อย่างเป็นธรรมกับความเห็นที่แตกต่างหรือบุคคลที่ถูกพาดพิง ,ข่าวที่สื่อนำมาเสนอแตกต่างกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ที่เกิดขึ้นจริง ฯลฯ ซึ่งคำถามและข้อสงสัย เหล่านี้มีผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือและความน่าไว้วางใจในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมไทย
นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาต่อเนื่องหลายปี ก็ยังคงดำรงอยู่ ทั้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือง โดยแต่ละฝ่ายได้ใช้เสรีภาพเพื่อการแสดงออกถึงจุดยืนและความเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้ในสังคมประชาธิปไตย แต่จากข้อเท็จจริง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของบุคคลหรือกลุ่มการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าในบางครั้งมีเจตนาเพื่อปลุกเร้า หรือก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดทางกฎหมายหรือเป็นลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมได้ ขาดความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่าง ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นของบุคคลตกอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย สังคมมีความหวาดกลัว และทำให้การใช้เหตุผลและปัญญาเพื่อหาทางออกร่วมกันในปัญหาสำคัญของประเทศลดน้อยลงไปด้วย
ในโอกาส วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ให้ร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพ “เสรีภาพที่ ไม่คุกคาม” ดังนี้
1. สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพการแสดงความเห็นและการแสดงออกของประชาชน ภายใต้ หลักการ “เสรีภาพ ที่ไม่คุกคาม” คือ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของบุคคลและสื่อมวลชนต้องมีความปลอดภัย ปราศจากการถูกแทรกแซง คุกคาม ในขณะเดียวกันต้องไม่ใช้เสรีภาพ ไปคุกคามการใช้เสรีภาพของบุคคลอื่น รับฟังและอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องไม่ปลุกเร้า เพราะอาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมได้
2. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน พึงตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นั้นคือ ต้องรายงานข่าวสาร ด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ด้วยข้อมูลรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงตรง เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์แห่งสาธารณะ ต้องตระหนักร่วมกันว่าหากนำเสนอข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง นั้น จะนำไปสู่การให้ทางเลือกที่ผิดกับประชาชน
3. ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมือง การรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เสรีภาพในการแสวงหาข่าวสารและรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับรู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องไม่ถูกขัดขวาง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน รวมทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มอิทธิพลใดๆ ที่สำคัญต้องร่วมกันสนับสนุนหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา46 ที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพผู้ที่เป็นสื่อมวลชนให้เป็นอิสระจากเจ้าของ ทั้งที่เป็นสื่อของรัฐและเอกชน
4. สื่อมวลชนต้องร่วมกันเสริมสร้างบทบาทในการขับเคลื่อนหาทางออกในสังคม แสดงบทบาทนำในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมร่วมกันสร้างบรรยากาศของการใช้เหตุผลหาทางออกให้กับสังคม เพื่อให้สังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ความแตกแยก ได้อย่างสันติ
5. ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ยุติและทบทวนการบิดเบือนเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ โดยต้องกระจายคลื่นความถี่ที่อยู่ในการครอบครองของรัฐไปสู่สาธารณะชนอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาให้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะ และโทรทัศน์ดิจิตอลเพี่อชุมชนให้ชัดเจน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรอบด้าน
6. ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ชีวิตประจำวันของประชาชนถูกแวดล้อมด้วยสื่อ มีปริมาณข่าวสารจำนวนมาก การรู้ทันสื่อ จึงมีความสำคัญ ต้องแยกความคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง ต้องหาข้อมูลจากสื่อหลายๆสื่อ เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งพึงตระหนักว่า สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ หากไม่ระมัดระวังอาจมีผลกกระทบกับตัวเองและบุคคลอื่นได้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2556