อดีต สมาชิกสภาปฎิรูปแนะสื่อเตรียมรับมือคสช.ปฏิรูปสื่อ ย้ำแม้ร่างรัฐธรรนูญถูกคว่ำแต่แนวคิดยังอยู่ ระบุหากไม่ต้องการใช้กฎหมายในการกำกับดูแล ต้องวางแผนร่วมกันแสดงศักยภาพ
9 กันยายน 2558 ศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชนสถาบันอิศรา จัดการ รับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 2 ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อและการส่งเสริมการรวมกลุ่มย่อยและ การกำกับดูแลกันเอง โดยเป็นการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียและปัญหาจากร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา กล่าว ว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ของร่างศูนย์กฎหมายฯ มีจุดประสงค์เพื่อไปแก้ไขร่างของสปช. โดยข้อแตกต่างของร่างศูนย์กฎหมายฯ นั้นจะให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลตนเองขององค์กรสื่อมวลชนทั้ง 3 ระดับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อ องค์การ และสภาวิชาชีพ ทั้งนี้ทางศูนย์เห็นว่าการเป็นสมาชิกต้องมีการรับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนโดย ไม่ได้บังคับ แต่เพียงต้องการให้สื่อแต่ละแห่งแสดงการยอมรับในการกำกับ นอกจากนี้แต่ละสื่อแต่ละองค์กรจะต้องสร้างมาตรฐานของตัวเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งต้องจัดทำมาตรฐาน กลไก กระบวนการ และสภาพบังคับว่าจะลงโทษอย่างไรเมื่อเกิดการกระทำผิด และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่
นางสาวสุวรรณา กล่าวว่า ในร่างของสปช.ไม่ได้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าในกระบวนการนั้นต้องทำครบ ขั้นตอนหรือไม่ ฉะนั้นเกรงว่ามาตรฐานของแต่ละองค์กรอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงหากองค์กรข้างล่าง ยังไม่มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามการร่างกฎหมายของศูนย์ฯมุ่งเน้นเพื่อรับรองความมีอยู่ขององค์กร และองค์การเท่านั้น และการกำกับดูแลตัวเองของผ้ปฏิบัติงานเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การกำกับมี ประสิทธิภาพ
ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) กล่าวว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำไปแล้วในวันที่ 6 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา แต่เรื่องการปฏิรูปสื่อยังคงมีการกล่าวถึง เพราะถึงแม้จะไม่มีการหยิบยกหรือทำให้เงียบหายไปในก็ยังมีข้อเสนอเรื่องการ ปฏิรูปสื่อของกระทรวงกลาโหมและซึ่งกระทรวงกลาโหมมีหนังสือทวงถามเรื่องการ ปฏิรูปสื่อเรื่อยๆมายัง สปช.อยู่ ซึ่ง ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมีความต้องการที่จะให้เกิดการปฏิรูปสื่อ ดังนั้น แม้จะดำเนินการเรื่องปฏิรูปสื่อหรือไม่ ฝ่ายทหารก็มีความต้องการที่จะกำกับ สื่อและควบคุมสื่อเช่นเดิม ฉะนั้นการเตรียมร่างกฎหมายจึงเปรียบเสมือนการ ตั้งหลักว่าต่อไปสื่อมวลชนควรเตรียมตัวอย่างไร
ส่วนเรื่องการกำหนดให้สื่อมวลชนต้องมีบัตรประจำตัวผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชั้นนั้น นายประดิษฐ์ กล่าว ว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีข้อเสนอ แต่ก็จำเป็นต้องเฝ้าติดตามเรื่องการปฏิรูปสื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายในการควบคุมสื่อมากเกินไป สำหรับพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ สื่อมวลชน พ.ศ. … ของฉบับสปช.นั้น ในชั้นอนุกรรมการอาจจะมีข้อจำกัดในด้านเวลาที่น้อยเกินกฎหมายจึงอาจจะยังไม่ ดีเท่าที่ควร การจัดทำร่างของศูนย์ศึกษากฎหมายฯอาจจะเป็นข้อสังเกตที่เรา สามารถนำไปประกอบในการพิจารณาได้
“ดัง นั้นสื่อต้องหาวิธีที่จะจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเครื่อง มือทางกฎหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องการกำกับดูแลสื่อมีมาอย่างแน่นอน”
อดีตสปช. กล่าวด้วยว่า ชุดความคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อนั้นยังคงมีอยู่ และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่สื่อมวลชนก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากไม่อยากให้เกิดกฎหมายเพื่อมากำกับดูแล สื่อมวลชนต้องตกลงกันให้ได้ว่าจะเอาอย่างไรหรือจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมด้วยว่าหากจะเดินหน้าไม่เอากฎหมายสู้ไปแล้วแพ้จะทำ อย่างไร จะได้เตรียมกฎหมายเพื่อคุ้มครองตัวเองให้มากที่สุด
ขณะที่นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กล่าว ว่า แม้สื่อมวลชนไม่ต้องการให้มีการออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแล แต่วันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่มีการกำกับ เพราะที่ผ่านมาการกำกับดูแล กันเองขององค์กรสื่อหรือการตรวจสอบเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมสามารถทำได้ใน ระดับเล็กๆเท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนแนวคิดที่จะให้สื่อมวลชนมีบัตรประจำตัว ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่ดี เพื่อแสดงตัวตน เนื่องจากในปัจจุบันมีการแอบอ้างวิชาชีพสื่อและไปสร้างความเสียหาย
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันพุธ ที่ 09 กันยายน 2558