โดย ‘จอกอ’จักร์กฤษ เพิ่มพูล
สิบเอ็ดเดือนสำหรับการทำงานปฏิรูปสื่อ สั้นมากที่จะแสดงผลความก้าวหน้าชัดเจน ในงานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดให้เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญในการปฏิรูปประเทศ
ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า เลือดเนื้อของคนทำสื่อตัวจริงที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ ก็ได้ผลักดันผลงานปฏิรูปสื่อบางเรื่อง สำเร็จเป็นรูปร่าง
เช่น การผลักดันให้เกิด “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” อันจะเป็นกลไกเสริมให้การกำกับ ดูแลสื่อมีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งต่อไปเรื่องสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า สภาร่มใหญ่ จะกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมากขึ้น ในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
การมีส่วนร่วมในการทำให้เกิด ร่าง พ.ร.บ.โฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมือง หรือข้าราชการประจำใช้ประชาสัมพันธ์ตัวเองแอบแฝงไปกับการโฆษณาหน่วยงาน หรือทำให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการทำงานของสื่อโดยผ่านงบประมาณโฆษณา
โดยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่างน้อย 3 มาตรา คื อมาตรา 48–50 ว่าด้วยเสรีภาพสื่อมวลชน หลักประกันการใช้เสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน
รวมทั้งข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน เช่น ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์
หลักความเป็นอิสระขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม
ส่วนใหญ่ยังล้อตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 เช่นประเด็นเรื่องเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจของคนทำงานสื่อ แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็ตอบคำถามสังคม เรื่องการใช้เสรีภาพโดยไม่มีความรับผิดชอบ โดยเขียนไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 49 ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เพื่อหวังว่า องค์กรนี้จะมี “สภาพบังคับ” ให้สื่อมีความรับผิดชอบได้
ในชั้นอนุกรรมาธิการได้ยกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่แปลงร่างมาจาก ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานสื่อมวลชน ที่ผมมีส่วนร่วมร่างเมื่อราว 3 ปีก่อน
ถ้าดูและวิเคราะห์เรียงมาตรา จะเห็นความพยายามของคนร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี สปช.สายสื่อ ร่วมผลักดันให้เดินตรงทาง จะเน้นย้ำในเรื่องหลักเสรีภาพเป็นสารตั้งต้น ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องอื่นๆ แต่ สปช.ชุดนี้ ไม่แตะประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ และลิดรอนเสรีภาพสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและภาพ
ในมาตรา 48 เขียนว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนในการประกอบวิชาชีพตามจริยธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ของประชาชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมได้รับความคุ้มครอง
ประโยคนี้ ใช้คำฟุ่มเฟือย เขียนซ้ำๆ ในคำที่มีความหมายเดียวกัน เช่น เสรีภาพที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องเป็นเสรีภาพที่เป็นไปตามหลักวิชาชีพจริยธรรม คำว่าจริยธรรม หากดูเทียบเคียงกับข้อบังคับด้านจริยธรรม ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะครอบคลุมทั้งประโยชน์สาธารณะ การเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว
การเขียนประโยคยาวๆ หรือรัฐธรรมนูญที่เขียนยาวๆ จะเปิดช่องให้มีการตีความ และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต
วรรคต่อมา การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
ความตอนนี้ ลอกมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย
ถัดมา การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล
สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน
วรรคนี้ ก็ปรับแต่งถ้อยคำ มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550
อาจจะมีหลายเรื่อง ที่ฟ้องว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ยังมิได้คิดอ่านเขียนรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อ
ก่อนจะถึงวันลงมติ 7 กันยายน อาจจะพอเห็น “ระเบิดเวลา” บางลูกวางอยู่ก็ได้
ที่มา : คมชัดลึก วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2558