องค์กรวิชาชีพสื่อ เสนอ สปช. แตะเบรก ก.ม.ปฏิรูปสื่อ เกรงเกิดผลเสียระยะยาว ชี้ การปฏิรูปสื่อต้องทำทั้งระบบ ไม่ใช่แค่คุมภาคเอกชนอย่างเดียว …
จากกรณีที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทบทวนเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. ไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 58 ตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหา ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อทุกระดับ เห็นความสำคัญของการปฏิรูปสื่อว่า เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตามสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ก็จะเกิดผลดีต่อวงการสื่อมวลชนและ สังคมโดยส่วนรวม และการปฏิรูปสื่อโดยเน้นเรื่องเสรีภาพโดยความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน รวมทั้งการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐและทุน เป็นประเด็นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
คณะทำงานเพื่อการ ปฏิรูปสื่อ ให้คุณค่าและความสำคัญกับการปฏิรูป ที่อยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนให้สื่อควบคุมกันเอง แต่ก็เห็นจุดอ่อนของการควบคุมกันเองที่ผ่านมาว่า อำนาจในการลงโทษที่องค์กรวิชาชีพมีอยู่นั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของ สังคม การปฏิรูปสื่อครั้งนี้ จึงมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า สื่อมวลชนจะรับอำนาจรัฐมาลงโทษกันเองหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า หากทำเช่นนั้นนอกจากจะขัดต่อหลักการควบคุมกันเองที่พยายามพัฒนากันมากว่า 18 ปี ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันในทางสากล การรับอำนาจรัฐมาเสี่ยงกับการถูกแทรกแซงโดยรัฐ ที่จะเข้ามาโดยการให้เงินอุดหนุนองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้น หรือต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเสมือนกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกลายๆ
ทั้งนี้ คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า แม้คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีความปรารถนาดี และมีเจตนาในการปฏิรูปที่น่าชื่นชมหลายประการ แต่รูปแบบกฎหมายที่สภาปฏิรูปเห็นชอบไปนั้น มีความไม่รอบคอบ และอาจจะก่อปัญหาในอนาคตได้ จึงมีคำทักท้วงว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ควรเสนอเฉพาะหลักการไว้ในรายงาน แต่ไม่ควรเสนอร่างกฎหมายที่มีปัญหาไปด้วย
คณะ ทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า การปฏิรูปสื่อที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ มิใช่ออกกฎหมายมาปฏิรูปสื่อภาคเอกชน โดยมิได้รวมสื่อภาครัฐเข้าไปด้วย เพราะหากไม่ทำทั้งระบบการปฏิรูปสื่อก็คงไม่มีความหมายและมิใช่การแก้ไขปัญหา อีกทั้งการปฏิรูปสื่อต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของปัญหา มิใช่การออกกฎหมายฉบับที่มีเนื้อหามุ่งแต่การควบคุมสื่อภาคเอกชนอย่างเดียว
สำหรับรูปแบบที่จะเป็นปัญหาน้อยที่สุดและจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย นั้น การปฏิรูปสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้นควรอยู่บนแนวคิดที่สนับสนุนให้องค์กร วิชาชีพได้มีการควบคุมกันเองเป็นขั้นแรก ทั้งนี้ องค์กรสื่อทุกองค์กรต้องมีข้อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กร โดยมีสาระสำคัญที่พึงมี แล้วยังต้องมีการตั้งคณะบรรณาธิการ เพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันการแทรกแซงจากเจ้าของ
ขณะ เดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการเซ็นเซอร์ตนเอง การสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงานในองค์กรสื่อ หรือตั้งสหภาพแรงงานกลางในองค์กรวิชาชีพสื่อ และป้องกันการแทรกแซงโดยรัฐ ด้วยการออกกฎหมายการควบคุมการใช้งบประมาณภาครัฐซื้อสื่อ และกฎหมายอื่นที่จำเป็น เช่น ว่าด้วยเรื่องการประกันความมีเสรีภาพของสื่อภาครัฐเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปสื่อไม่ว่าเอกชนหรือรัฐควรอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญ แยกอำนาจหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) โดยควรออกกฎหมายให้อำนาจผู้กำกับดูแล (Regulator) ซึ่งจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. สภาวิชาชีพกลางหรือคำเรียกอื่นที่เหมาะสมทำหน้าที่ในการออกมาตรฐานกลางทาง ด้านจริยธรรม และช่วยองค์กรหรือสภาวิชาชีพสื่อพัฒนากระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ ให้เกิดประสิทธิภาพ
2. องค์กรที่เกิดจากพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมโดยให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นเครือ ข่ายเพื่อเฝ้าระวัง (Media Watch) หรือคำเรียกอื่นที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง มิให้มีสื่อถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐและทุน โดยให้ทำรายงานต่อสาธารณะในเรื่องสถานการณ์สื่อ รวมทั้งการวิจัยเรื่องสื่อในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพการจ้าง สวัสดิภาพ ฯลฯ เพื่อเสนอแนะให้องค์กรสื่อปรับปรุง ไปพร้อมๆ กับให้สังคมได้รับทราบ
อีกด้านหนึ่ง ให้องค์กรนี้เป็นตัวแทนของประชาชนและทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบสื่อแทน ประชาชน โดยองค์กรนี้เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและฟ้องร้องแทน เมื่อเห็นว่าองค์กรสื่อผู้ประกอบวิชาชีพทำผิดจริยธรรม ทั้งสององค์กรนี้ จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่ก็มีสถานะเป็นองค์กรอิสระของประชาชน เป็นการเพิ่มพลังให้ภาคประชาชนในการทำหน้าที่กำกับตรวจสอบดูแล ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการแทรกแซงสื่อด้วย
วิธีการนี้เป็นการนำเอาอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้ เกิดการปฏิรูปสื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยจำกัดขอบเขตของกฎหมาย และตัดปัญหาข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงสื่อ นอกจากนี้ สื่อยังสามารถรวมตัวกันได้ตามประเภทของสื่อและสามารถเกิดองค์กรหรือสภา วิชาชีพใหม่ๆ ได้ ตามภูมิภาคหรือตามลักษณะสื่อ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวที่สอดคล้องไปตามความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทาง ด้านจริยธรรม องค์กรผู้กำกับดูแล (Regulator) กลุ่มแรก ที่จะต้องจัดตั้งโดยกฎหมายนั้น อาจจัดให้มีเงินสนับสนุนองค์กรหรือสภาวิชาชีพที่มีกระบวนการที่ดีและพัฒนา จริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในรายละเอียดอีกมาก ที่มิใช่การออกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว เช่น เป็นอิสระของผู้ประกอบวิชาชีพและเพื่อจูงใจให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบ ธุรกิจสื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของทุนได้แสดงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ อย่างมีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ควรมีมาตรการจูงใจด้วยวิธีอื่น เช่น การให้สิทธิในการประกันตัวหากถูกฟ้องร้องโดยผ่านการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ หรือสมาคม เป็นต้น
สำหรับระบบและกลไกด้านการดูแลสื่อด้านสวัสดิภาพ นั้น ให้เป็นรายละเอียดที่องค์กรกลางที่ทำหน้าที่พัฒนาจริยธรรมเป็นผู้พัฒนาร่วม กับสภาวิชาชีพ แต่ทั้งนี้ให้อยู่บนหลักการสำคัญที่ว่า สื่อจะคงความเป็นอิสระได้ต่อเมื่อสามารถยืนอยู่บนความเป็นอิสระทางด้าน เศรษฐกิจของตนเอง.