โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี 27 ก.ค. 2558
ในที่สุด สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติการปกป้องสิทธิเสรีภาพส่งเสริม จริยธรรมคุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน พ.ศ. …….. ท่ามกลางความห่วงใยของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหลายที่เป็นห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้ จะสร้างปัญหามากกว่าที่จะช่วยปฏิรูปสื่อในระยะยาว
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเร่งรีบในการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะ สปช.รู้ตัวดูว่ากำลังสิ้นสุดวาระการทำงานหลังจากที่มีการลงมติเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้
การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงทำกันแบบลุกลี้ลุกลน และปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพและเจ้าของกิจการสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง คนที่มีส่วนร่วมในคณะอนุกรรมาธิการยกร่างหลายคนก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจใน วิชาชีพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง
จริงอยู่ที่การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมวลชนถูกมองเป็นผู้ร้ายและมีส่วนในการสร้าง ความขัดแย้งและแตกแยกของคนในชาติ ดังนั้น จึงมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายว่า “สื่อมวลชน” ต้องถูกปฏิรูป เช่นเดียวกันกับประเด็นปัญหาอื่นๆ ของประเทศที่จะต้องมีการปฏิรูปตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อมวลชนในครั้งนี้ จึงเริ่มที่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีการใส่บทบัญญัติไว้ตั้งแต่ร่างแรกว่า
“ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้า หน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา ๔๘ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตาม มาตรา ๔๘ และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง”
ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับกันแต่แรกว่า จะต้องนำ “กฎหมาย” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสื่อ และทำให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนของ สปช. รีบรับลูกตัวร่างรัฐธรรมนูญไปร่างเป็นกฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญยังอยู่ระหว่างการแก้ไข ก่อนที่จะมีการนำมาให้ สปช.เห็นชอบ
ทีนี้ ลองมาดูกันว่า ร่างพระราชบัญญัติการปกป้องสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมคุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน พ.ศ. …….. ที่ สปช.รับหลักการไปแล้ว ว่าจะมีเนื้อหาไปในลักษณะของการปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม หรือคุ้มครองสวัสดิภาพและสวัสดิการของสื่อมวลชนจริงหรือไม่ และจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อได้จริงหรือ
ความผิดปกติของร่างกฎหมายฉบับนี้ เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่บทนิยามศัพท์ในมาตรา 3 ที่ระบุถึง “ใบรับรองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่หมายความว่า ใบรับรองซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อมวล ชนนั้น
ตรงนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ร่างไม่มีความเข้าใจในวิชาชีพ “สื่อมวลชน” ซึ่งมีความแตกต่างจากวิชาชีพอื่น ตรงที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ได้ถูกจำกัดว่าจะต้องผ่านการศึกษาอบรม เฉพาะด้านสื่อมวลชนเท่านั้น แต่สามารถเข้ามาฝึกฝนหลังจากจบการศึกษาในสาขาอื่นๆ ได้ เพราะวิชาชีพสื่อมวลชนต้องการคนทำงานที่มีความหลากหลายทางความคิดและสามารถ สร้างสรรค์ทางด้านสื่อสารมวลชนออกมาได้อย่างหลากหลายเพื่อตอบสนองสังคม ประชาธิปไตยที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน
ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่มีชาติใดเลยที่มีระบบการออกใบรับรอง หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะคงมีแต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารหรือคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ประเด็นต่อมาคือ การกำหนดให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจขึ้นทะเบียนสมาชิก รวมถึงการออกและเบิกถอนใบรับรองสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นๆ อีก เช่นอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมที่มาจากคณะกรรมการกำกับ ดูแลสื่อโดยภาคประชาชนและการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเท่ากับเป็นการก้าวล่วงเข้ามาพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยไม่ผ่านการ พิจารณาขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
กรณีนี้ มีต้นเหตุมาจากการที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชนและการรู้เท่าทัน สื่อ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลซึ่งมิได้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเลย แต่ให้มีอำนาจในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง รับเรื่องร้องเรียนและร่วมแก้ไขปัญหาการกระทำอันไม่เหมาะสมของสื่อ รวมถึงอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับความเสียหายจากผู้ ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งขัดกับหลักการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้ง
ส่วนที่ร้ายแรงที่สุดคือ การให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในการลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้ ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบท บัญญัติในร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จะมีออกกฎหมายให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจลงโทษตาม กฎหมาย
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางเรื่องของในกฎหมายที่ถูกอ้างว่า จะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีการศึกษาและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า ไม่มีประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยประเทศใดในโลกนี้ที่กำหนดให้สภา วิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจตามกฎหมายในลักษณะนี้
เพราะการให้อำนาจตามกฎหมายแก่สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมเป็นการให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนโดยผ่านสภา วิชาชีพสื่อฯ ซึ่งย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้อำนาจทางการเมืองสามารถแทรกแซงเข้ามาใช้อำนาจ นี้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับองค์กรอิสระตามกฎหมายต่างๆ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น การที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 4 องค์กร ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกมาท้วงติงความพยายามของ สปช. ที่เร่งรีบจะออกกฎหมายนี้ โดยยืนยันว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพร้อมจะปรับปรุงระบบการกำกับดูแลกันเองในวิชาชีพให้ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรวิชาชีพ จึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว แม้ว่าจะออกมาช้ากว่าเวลาที่ควรจะแสดงจุดยืนในเรื่องนี้บ้างก็ตาม
เพื่อยุติความพยายามที่จะปฏิรูปสื่อมวลชนแบบผิดทิศผิดทางต่อไป คณะกรรมาธิการยกร่างฯ รัฐธรรมนูญก็ควรจะนำความคิดเห็นและข้อท้วงติงขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไป ปรับปรุงบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อถอดชนวนความขัดแย้งและความหายนะที่ จะเกิดกับวิชาชีพสื่อมวลชนในอนาคต
ทั้งนี้ เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ ย่อมนำไปสู่การออกกฎหมายประกอบออกมาจนสร้างปัญหาการให้การเมืองเข้ามาควบคุม สื่อ มากกว่าที่จะเป็นการ “คุ้มครองสื่อ” ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย…
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 27 ก.ค. 2558