รายงานโดย :สุเทพ กล่ำทวี
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
การสร้างความสมานฉันท์ (Reconciliation) หมายถึง มาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันในสังคมหันหน้ามาคืนดีกัน
ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือการนำความปรองดอง ความสามัคคี และสันติภาพ กลับสู่สังคมหรือประเทศชาติอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการสร้างความสมานฉันท์จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาวภายหลังจากสังคมหรือประเทศชาติต้องประสบกับความแตกแยก สงครามหรือความรุนแรงมาแล้วในระยะหนึ่ง
โดยปกติแล้ว เครื่องมือหลักอื่นๆ ที่นิยมใช้ในการแก้ไขและบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างเกิด เหตุการณ์ความขัดแย้งถึงขั้นมีการใช้กำลังและความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการทำสงคราม มักจะได้แก่การเจรจาต่อรอง (Negotiation) และการไกล่เกลี่ย (Mediation) โดยทั้งสองเครื่องมือยังคงถือเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ไขและบริหารจัดการความขัดแย้งในระดับสากล
สาเหตุที่ต้องอาศัยเครื่องมือในการสร้างความสมานฉันท์หลังเกิดเหตุความรุนแรงในความขัดแย้ง ก็เนื่องจากว่า โดยทั่วไปแล้วความขัดแย้งที่นำไปสู่การทำสงครามหรือความรุนแรงมักจะสามารถทำให้ยุติลงได้ แต่ไม่มีอะไรที่อาจจะรับประกันได้ว่าคู่กรณีในความขัดแย้งทุกฝ่ายจะหายโกรธเคืองกันหรือสามารถหันหน้ากลับมาคืนดีกันได้อย่างง่ายดายภายในระยะเวลาอันสั้น ถ้าไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้คู่กรณีในความขัดแย้งหันหน้ามาคืนดีกันได้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงหรือสงครามอีกครั้งหนึ่งก็จะยังคงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
การสร้างความสมานฉันท์เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสังคมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งทางตรงและทางอ้อมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการสร้างความสมานฉันท์อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ ความขัดแย้งในแต่ละรูปแบบ การสร้างความสมานฉันท์โดยปราศจากความเต็มใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งจะเป็นสมานฉันท์ที่ไม่ยั่งยืนและไม่สามารถก่อให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างมุ่งหวัง
คุณลักษณะสำคัญของการสร้างความสมานฉันท์ ได้แก่ 1) การสร้างความสมานฉันท์หลังจากประเทศชาติเผชิญกับความรุนแรงหรือสงคราม เป็นภารกิจของสังคมที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาหลาย เจเนอเรชัน และไม่สามารถเกิดจากการบังคับใช้จากอิทธิพลภายนอกได้ ทุกภาคส่วนในสังคม ต้องร่วมมือกันด้วยความเต็มใจ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะต้องเป็นความร่วมมือที่เน้นการ พัฒนา (Development Co-Operation) เป็น หลัก 2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งหลาย (Development Agencies) ต้องร่วมมือกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการการสร้างความสมานฉันท์ 3) กระบวนการสร้างโปรแกรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้งที่ถูกต้องและสอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศ 4) โปรแกรมการพัฒนา (Development Programs) ในด้านต่างๆ จะต้องเป็นไปโดยเน้นการสร้างความจริง (Truth) ความเท่าเทียม (Equality) และการเยียวยา (Healing) ทั้งตัวบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและการเยียวยาสังคมทั้งระบบ
เงื่อนไขสำคัญ (Key Conditions) ที่จะเอื้อต่อการสร้างความสมานฉันท์ ได้แก่ 1) การสร้างเสถียรภาพ (Stability) ให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้เสียก่อนเป็นอันดับแรก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในแต่ละประเทศจะต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ การบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐเพื่อป้องกันความรุนแรงจะต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด ตราบใดที่สังคมยังอ่อนแอ ยังคงมีแต่ความรุนแรงและการบังคับใช้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ การสร้างความสมานฉันท์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน 2) การทำความจริง (Truth) ให้ปรากฏต่อสังคมว่าฝ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีมูลเหตุอันใดที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกรุยทางไปสู่การนำความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 3) การใช้กระบวนการยุติธรรม (Justice) เข้าไปมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ เช่น การจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากความรุนแรงหรือสงครามที่เกิดขึ้น และ 4) การเยียวยา (Healing) ทั้งตัวบุคคลและสังคมทั้งระบบ โดยเฉพาะการเยียวยาทางสังคมจิตวิทยา (Psychosocial Healing) ให้แก่ผู้ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากความรุนแรงหรือสงคราม ตัวอย่างของความสำเร็จที่ เกิดขึ้นจากการสร้างโปรแกรมสมานฉันท์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ โปรแกรมการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างเผ่าพันธุ์ที่ทำสงครามกันในประเทศรวันดา โดยความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสมานฉันท์ของรวันดากับรัฐบาลเยอรมนีในปี ค.ศ. 1994
กระบวนการในการสร้างความสมานฉันท์มีอยู่ 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
การวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้ง (Analyzing the Problem) ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละสถานการณ์ การวิเคราะห์แบบไม่ชัดเจนจะนำไปสู่ความผิดพลาดในการออกแบบกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ที่อาจจะนำไปสู่การหวนคืนของความขัดแย้งและความรุนแรงได้อีกครั้ง
ความสามารถในการระบุจังหวะและโอกาสที่ควรเข้าไปช่วยสร้างความสมานฉันท์ของฝ่ายที่เป็นเจ้าภาพ จังหวะที่ดีในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์สามารถกระทำได้ตั้งแต่ 2.1) ช่วงก่อนที่ความรุนแรงจะยุติ (Before the End of Hostility) โดยควรเน้นที่การสร้างความพยายามและวางพื้นฐานในการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือสงคราม 2.2) ช่วงทันทีทันใดหลังจากที่เกิดความรุนแรงขึ้น (Immediately After Violent Conflict) หรือช่วงแห่งการบังคับใช้กฎหมาย (Rule of Laws) อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน และ 2.3) การสร้างความสมานฉันท์ในระยะกลาง (In the Medium Term) หมายถึงหลังจากที่ความรุนแรงเกิดขึ้นไปแล้วระยะหนึ่งอาจจะเป็นช่วงเดือนแรกหรือปีแรกของความรุนแรง กิจกรรมต่างๆ อาจจะได้แก่ การให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่มีความรุนแรงหรือเกิดสงคราม การก่อสร้างและฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในสังคมที่เกิดความรุนแรง เช่น การซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนหนทาง เครื่องมือด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น
การดึงเอาฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Engaging Stakeholders) จากความขัดแย้งทุกฝ่ายเข้ามาสู่กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าขาดความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือในกรณีที่ไม่สามารถเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ครบทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551