เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ 2008 (Bangkok International Film Festival 2008) ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมีการเติบโตและพัฒนามาโดยตลอด และเพื่อเป็นการนำเสนองานของปีนี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งประเทศไทยจัดงานขึ้น โดยเน้นการใช้บุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยมาเป็นผู้จัดงานทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่างบประมาณในการจัดเทศกาลภาพยนตร์ฯ ปีนี้ถูกการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากงบประมาณการจัดงานในปี 2550 คือ จาก 80 ล้านบาท เหลือเพียง 25 ล้านบาทเท่านั้น
นายนคร วีระประวัติ อุปนายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และรองผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ 2008 กล่าวถึง งบประมาณที่ได้รับจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า แรกเริ่มได้มา 25 ล้านบาท แต่ตัวเลขในการจัดงานจริงๆ มีประมาณ 30 ล้านบาท โดยได้เพิ่มมาจากผู้สนับสนุนเอกชนรายต่างๆ
“การทำงานที่ผ่านมา ททท.ใช้บุคลากรจากต่างประเทศในการจัดงาน พอนึกว่าเป็นต่างชาติก็จะมีการบินมาบินไป ค่าเครื่องบินก็มากเอาเรื่อง ฝรั่งมาถึงเมืองไทยก็ต้องพักโรงแรม 5 ดาว มีเบี้ยเลี้ยง ค่าอะไรต่างๆ มากมาย แต่ตอนนี้เราเป็นผู้จัดงานเราเลือกดำเนินการเองและใช้บุคลากรในอุตสาหกรรมของเราเอง ก็ตัวเลขก็ลดไปเยอะ ทุกคนที่มาร่วมกันทำก็ไม่ถึงกับเป็นอาสาสมัคร ก็มีค่าพาหนะให้บ้าง การที่เราใช้คนในอุตสาหกรรมหนังไทยทั้งหมดเหมือนเป็นการแสดงศักยภาพคนไทย ในการทำงานว่าเราก็มีฝีไม้ลายมือ ผู้สร้าง ผู้กำกับฯ ของเราก็ได้ออกไปเทศกาลต่างๆ ทั่วโลก และก็ต่างมีความรู้ทั้งนั้น เราทำได้ตั้งนานแล้วครับ แต่ว่าเราไม่มีเงินเท่านั้นเอง”
วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานครั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าเราต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางของภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ! ซึ่ง นายยงยุทธ ทองกองทุน นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยกล่าวว่า จากการจัดงานทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ความยิ่งใหญ่ของงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพนั้น ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้พอสมควร แต่ยังมองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะมีจุดยืนอยู่ส่วนไหนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน และได้ประกาศตัวเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์เอเชีย ดังนั้นประเทศไทยอาจจะต้องทำกรอบให้เล็กแล้วเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะดีกว่าไปแข่งกับเกาหลีใต้
นายยงยุทธยังให้ความคิดเห็นต่อไปอีกว่า การที่เทศกาลภาพยนตร์ฯมาจัดในช่วงเวลาเดียวกับมหกรรมบันเทิงไทยเป็นเรื่อง ที่ได้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรม เนื่องจาก ที่ผ่านมางานกระจัดกระจายทั้งที่เป็น ของชุดเดียวกัน ดังนั้นถ้าเกิดสามารถนำเอางาน 2 งานเข้ามารวมกันได้ก็เป็นเรื่อง ที่ดี เพราะมหกรรมบันเทิงไทยนั้นเป็น พื้นที่สำหรับนำเสนอส่วนที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตภาพยนตร์ โดยโมเดลนี้ไม่ได้ทำแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่ฮ่องกงก็ได้ทำไปแล้ว นำเอา 2 งานมารวมกัน คืองานภาพยนตร์และงานเทรดดิ้ง สร้างแรงดึงดูดให้กับอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4038 หน้า 44