จอง”เอ็นบีที”แถลง7โมงเช้า อ้างแจงสถานการณ์การเมือง ปชป.ชี้”บัวแก้ว”ทำงานอึดอัด
“เตช”ทิ้งเก้าอี้ รมว.การต่างประเทศ ยื่นหนังสือลาออกแล้ว อ้างเหตุผลต้องดูแลภริยา “สมัคร”คิดระงับ กล่อมให้รับตำแหน่งต่อ สะพัดนายกฯถอดใจ จอง “เอ็นบีที” แถลงวันนี้ อ้างชี้แจงสถานการณ์การเมือง
นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งโดยมีภารกิจหลักเพื่อแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทกับกัมพูชา อันเกี่ยวเนื่องกับกรณีประสาทพระวิหาร ได้เพียง 1 เดือนกับอีก 7 วัน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี เมื่อบ่ายวันที่ 3 กันยายน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้องการมีเวลาไปดูแลภริยาที่กำลังป่วย ท่ามกลางกระแสข่าว เหตุผลที่แท้จริงนั้น เนื่องจากอึดอัดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังได้รับหนังสือลาออกจากนายเตซ นายสหัสส่งหนังสือแจ้งให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว โดยนายสมัครพยายามเจรจาและระงับหนังสือลาออกของนายเตซที่ขอให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กันยายน ไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์สอบถามเรื่องนี้จากนายเตช แต่ปรากฏว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นช่องทางสื่อสารตามปกติของนายเตชปิดเครื่อง ทำให้ไม่สามารถตต่อต่อพูดคุยได้
ทั้งนี้ ตลอดวันที่ 3 กันยายน นายเตชยังคงปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงตามปกติ โดยในช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมระดับอธิบดีภายในกระทรวง และยังคงรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหารในกระทรวงการต่างประเทศเช่นเดิม ก่อนที่ข่าวการลาออกจะแพร่กระจายในช่วงบ่าย และได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงว่านายเตชลาออกจริง
นายเตชเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งสืบเนื่องจากกรณีเขาพระวิหาร โดยนายเตชใช้เวลาเดือนเศษในตำแหน่งทำหน้าที่สำคัญ ที่ถือเป็นภาระเร่งด่วนก็คือ การเจรจาเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งทางทหารบริเวณปราสาทพระวิหารกับกัมพูขาจนประสบความสำเร็จ ลดความตึงเครียดและนำไปสู่การทำความตกลงปรับกองกำลังประจำการในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้มีการปักปันเขตแดนกันต่อไปได้ในที่สุด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทราบว่านายเตชได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยได้ยื่นกับนายสหัสแต่ยังไม่ทราบเหตุผล แต่ถ้าให้คาดเดาก็คิดว่านายเตชคงหนักใจในการที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น เพราะมีคิวยาวที่จะต้องให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ
“ดูไม่ดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลต้องลาออก และยิ่งเป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรีขอตัวมาจากในวัง ก็ยิ่งดูไม่ดีแน่ๆ แต่จะสะเทือนกับรัฐบาลแค่ไหนผมไม่ทราบ และเมื่อคุณเตชลาออกแล้ว นายกฯก็ต้องรีบหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่โดยเร็ว เพราะว่าตอนนี้จะมีคำถามจากสื่อต่างชาติมากว่า มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายเตชลาออก ตลอดช่วงบ่ายถึงค่ำ มีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่านายสมัครอาจตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ยิ่งผู้สื่อข่าวที่ติดตามรายงานความเคลื่อนไหวของนายสมัครไม่สามารถตรวจสอบได้ว่านายสมัครไปปฏิบัติภารกิจที่ใด ประกอบกับกระแสข่าวการเข้าเฝ้าฯ ในค่ำวันนี้ (3 ก.ย.) หลังจากคณะองคมนตรีเข้าเฝ้าฯ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปใน ทำนองกระแสข่าวดังกล่าวอาจเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 07.00 น. วันที่ 4 กันยายน นายสมัครมีกำหนดการออกแถลงการณ์สดชี้แจงสถานการณ์ปัจจุบันทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กรมประชาสัมพันธ์ ทำให้ลดทอนกระแสข่าวการตัดสินใจการลาออกของนายสมัครลง
นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมในเรื่องของการแถลงออกอากาศของนายสมัครในช่วงเช้าวันที่ 4 กันยายนในส่วนของสถานโทรทัศน์เอ็นบีทีไว้พร้อมแล้ว
ทางด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวกรณีนายสมัคร ลงนามในคำสั่งโยกย้ายนายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา แต่ได้ยกเลิกคำสั่งในวันเดียวกันว่า เท่าที่เห็นตามข่าว อาจจะเป็นเพียงหนังสือขอตัวไปช่วยราชการเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะไม่ใช่คำสั่งโอนขาด หรือมีการระบุให้ไปรับอัตราเงินเดือนที่ต้นสังกัดใหม่ ดังนั้น ผู้ที่ลงนามในคำสั่งสามารถที่จะยกเลิกคำสั่งได้ โดยไม่ต้องทำหนังสือยกเลิก เพราะอยู่ในวิจารณญาณของหน่วยงานที่ออกคำสั่งอยู่แล้ว
นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ (ผอ.กจ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่ทราบว่าคำสั่งให้นายพงศ์โพยมมาปฏิบัติราชการสำนักนายกฯมีจริงหรือไม่ แต่กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้รับคำสั่ง เพราะยังไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือเวียน หรือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ต้นสังกัดคือกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบ และหากว่ามีการออกคำสั่งดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ส่งมายังกระทรวงมหาดไทย ก็ถือว่าคำสั่งไม่มีผล ผู้ออกคำสั่งสามารถยกเลิก ดึงทิ้ง หรือทำลายคำสั่งได้
“หากมีการออกหนังสือคำสั่งดังกล่าว และส่งมายังกระทรวงมหาดไทยแล้ว ถ้าจะมีการยกเลิก ทางสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องทำหนังสือยกเลิกแจ้งมาด้วย แต่ตอนนี้ไม่เคยได้รับคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น จึงถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และนายพงศ์โพยมยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ” นายแมนรัตน์กล่าว
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11135 หน้า 1