เทียบคำต่อคำ”ปาฐกถาหมิ่น” “ใคร”(จงใจ)อ่อนไวยากรณ์

หมายเหตุ – มาจากคำแปลปาฐกถานายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ชมรมนักข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ และนายจักรภพกับคณะได้จัดทำขึ้น

จากการแถลงข่าวยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่งของ นายจักรภพ พร้อมกับแจกเอกสารคำแปลเป็นภาษาไทยของนายจักรภพเอง พร้อมด้วยคำแปลฉบับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฉบับ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี ผู้กล่าวหานายจักรภพในคดีหมิ่นเบื้องสูง และเอกสารถอดเทปภาษาอังกฤษนั้น มีจุดน่าสังเกตที่สมควรจะนำมาเทียบเคียงกันระหว่างฉบับของนายจักรภพ และ ปชป.ดังนี้

(ฉบับจักรภพ น.1)

…ถ้านำผลการของการลงประชามติเมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา มาวิเคราะห์อย่างจริงจัง ท่านจะเห็นถึงความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยจำนวนร้อยละ 56 และร้อยละ 41 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีครั้งใดที่คนจำนวนมากขนาดนั้นจะลุกขึ้นมาประกาศว่าเราไม่ต้องการระบบอุปถัมภ์อีกต่อไป สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคือประชาธิปไตย ไม่ใช่ใครสักคนที่จะมาตบหลัง ตบไหล่ แล้วบอกว่า ฉันจะทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นเล็กน้อย แต่เธอควรจะต้องสำนึกบุญคุณ

(ฉบับ ปชป.)

…เป็นการปะทะกันระหว่างประชาชนจำนวน 56% และประชาชน 41% ของประชากรทั้งหมด ไม่เคยมีครั้งไหนที่ประชาชนออกมาเป็นจำนวนมากและประกาศก้องว่า “เราไม่ต้องการระบบอุปถัมภ์ของท่านอีกต่อไป” ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาลูบหลัง และบอกกับเราว่า “ฉันจะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นบ้าง แต่ต้องสำนึกในบุญคุณของฉัน”

(ฉบับจักรภพ น.2)

…นี่เป็นบทเรียนแรกที่เด็กนักเรียนของไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการปกครองของไทยว่า เราต้องการพึ่งพาใครสักคน ถ้าเรามีปัญหา ให้ไปหาใครสักคนที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ก่อนที่เราจะรู้ตัวด้วยซ้ำไป เราได้เข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์ เพราะเราถามหาการพึ่งพาอาศัยก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความสามารถของตนเองในการแก้ปัญหา

(ฉบับ ปชป.)

…เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งในบทเรียนแรกๆ ที่นักเรียนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการเมืองของไทยว่า มีคนที่เราสามารถพึ่งพาได้ยาก มีปัญหาเราสามารถหันไปพึ่งพาคนที่ช่วยเราได้ ด้วยเหตุนี้ก่อนที่เราจะรู้ตัว เราก็ถูกชักนำเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์เสียแล้ว เพราะเรามุ่งแต่จะพึ่งพาอาศัยคนอื่น แทนที่จะพึ่งพาความสามารถของตัวเอง

(ฉบับจักรภพ น.5)

…เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับอำนาจ เมื่อข้าพเจ้าอายุมากขึ้น และได้เรียนรู้ว่าควรทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไร้ซึ่งอำนาจ แนวคิดของการมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานเป็นเสมือนเครื่องเตือนให้เราตระหนักว่าเราอาจจะต้องการผู้นำที่จะมาดำเนินการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ให้เรา ท่านเคยเห็นหรือไม่ครับ ทุกสิ่งที่ผมได้เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้นำไปสู่ความยึดมั่นของคนไทยว่า การที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีความเมตตากรุณาเช่นนี้แล้ว เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีประชาธิปไตย เราถูกชักนำให้เชื่อว่ารูปแบบของรัฐบาลที่ดีที่สุดคือประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำ หรือภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แนวคิดที่พัฒนามาในลักษณะนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ในปัจจุบันขึ้น ผมมองว่าเป็นการปะทะกันระหว่างวิถีทางประชาธิปไตยของไทยและระบบอุปถัมภ์

(ฉบับ ปชป.)

“เมื่อผมมีอำนาจ ผมก็ไม่รู้ว่าจะใช้อำนาจนั้นอย่างไร แต่เมื่อผมโตขึ้นและได้รู้ว่าจะใช้อำนาจอย่างไร ผมกลับไม่มีอำนาจแล้ว” การได้บางสิ่งบางอย่างในเวลาที่ผิด ย้ำเตือนเราว่าอาจมีความจำเป็นที่ต้องมีผู้นำที่มาเปลี่ยนแปลงให้เราใหม่หมด ท่านเห็นหรือไม่ว่าทุกอย่างที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้น นำไปสู่ความเชื่ออย่างแน่วแน่ของคนไทยว่า หากยังมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาเช่นนี้ ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องมีระบอบประชาธิปไตย เราถูกชักจูงให้เชื่อว่ารูปแบบของการปกครองที่ดีที่สุดคือ การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถูกชี้นำ หรือการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำอันสง่างามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการพัฒนาแนวคิดและความเชื่ออย่างต่อเนื่องมาจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งผมมองว่าเป็นการปะทะกันระหว่างประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์

(ฉบับจักรภพ น.6)

…ดังนั้น การได้รับการอุปถัมภ์จึงไม่ใช่การ ไม่มีอารยธรรม แต่เวลานี้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และทำให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบันเพราะเวลานี้มีคนจำนวนมากที่ก้าวออกมาและประกาศว่าเราไม่ต้องการความสุขลมๆ แล้งๆ แบบนั้นอีกแล้ว …(ข้อสังเกตว่า นายจักรภพและคณะ ไม่ได้แปลความในประโยคที่ว่า we don”t want anymore of your danmn patronage !)

(ฉบับ ปชป.)

… ดังนั้น การที่มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องบาป ไม่ใช่ความชั่วร้าย แต่ทั้งหมดกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตอนนี้เราจึงต้องปะทะกัน เพราะมีประชาชนจำนวนมากพอสมควรที่ออกมาและบอกว่า “ไม่ เราไม่ต้องการระบบอุปถัมภ์เฮงซวยของท่าน อีกต่อไป”

(ฉบับจักรภพ น.6)

…แต่เมื่อนับรวมวิธีการเทคนิคต่างๆ ที่บรรดา “พี่ใหญ่” ทั้งหลายใช้ พวกเขาได้เสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 56 ซึ่งแทคติคนั้นรวมถึงการขึ้นป้ายขนาดใหญ่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และอาจจะมีนอกเขตกรุงเทพฯด้วย แต่ผมไม่เห็นนะครับ ผมเห็นแต่ป้ายขนาดใหญ่ตลอดข้างทางดอนเมืองโทลล์เวย์จากสนามบินเก่าของเราคือดอนเมือง ข้อความพวกนั้นก็เป็นไปในทำนองที่ว่าพวกเราคนไทย ควรจะออกเสียงไปในทิศทางเดียวกัน เราเชื่อมั่นในสิ่งเดียวกัน เราต้องลงคะแนนเสียงเหมือนๆ กัน แต่สิ่งสำคัญมากๆ ก็คือชื่อที่ลงท้ายข้อความต่างๆ ในป้ายขนาดใหญ่เหล่านั้น มีการระบุว่าเป็นกลุ่มคนใส่เสื้อเหลือง หรืออีกนัยหนึ่งเมื่อนับคนใส่เสื้อเหลืองกลุ่มนั้น รวมกับเทคนิควิธีการต่างๆ แล้ว ก็ยังได้คะแนนเสียงแค่ร้อยละ 56 นั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ประเทศไทยของเราอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง

(ฉบับ ปชป.)

…แต่ทั้งหมดนั่นรวมทั้งเล่ห์กลต่างๆ ของผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ พวกเขาก็ได้เพียง 56% ซึ่งก็รวมถึงการติดป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วกรุงเทพฯและอาจจะนอกกรุงเทพฯด้วยผมไม่เห็น ผมเห็นแต่ป้ายโฆษณาจำนวนมากตลอดทางยกระดับดอนเมือง ซึ่งมีข้อความเช่น “คนไทยต้องร่วมชะตา ลงเรือลำเดียวกัน” แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือชื่อท้ายข้อความบนป้ายเขียนว่า “ประชาชนคนเสื้อเหลือง” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ประชาชนคนเสื้อเหลือง” รวมกับเล่ห์กลทุกอย่าง แต่คุณกลับได้เพียง 56% นั่นเป็นปัญหาใหญ่ของคุณแล้ว ประเทศไทยกำลังใกล้ถึงจุดการเปลี่ยนแปลงเต็มทีแล้ว

(ฉบับจักรภพ น.8)

…สมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้มีโอกาสทำงานกับท่านและก็ทำให้ผมชื่นชอบท่านเป็นการส่วนตัว คุณทักษิณเข้ามารับตำแหน่งและแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว คุณทักษิณได้ดึงอำนาจจากระบบอุปถัมภ์จากอำนาจในรูปแบบที่เคยเป็นมาและได้เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผมทำงานอยู่กับคุณทักษิณผมถึงทราบว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำไม่ใช่แค่นโยบายเชิงปรัชญา คุณทักษิณเพียงแต่ต้องการทำหน้าที่ของท่านเท่านั้น คุณทักษิณต้องการให้คนชอบ ต้องการให้คนรัก ต้องการเป็นมหาเศรษฐีที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและนั่นคือวิธีการที่คุณทักษิณคิดในเรื่องต่างๆ แต่รูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ ของเขากลับไปขัดแย้งโดยตรงกับระบบอุปถัมภ์ เพราะมันไปแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นระบบอุปถัมภ์ และเกิดขึ้นเร็วมากแค่เพียงเวลา 5 ปี

(ฉบับ ปชป.)

…นายกฯทักษิณ ซึ่งผมได้ทำงานด้วยและเริ่มรู้สึกชอบท่านเป็นการส่วนตัว ได้เข้ามาเปลี่ยน แปลงทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับการเดินละเมอ นายกฯทักษิณได้กำจัดระบบอุปภัมภ์ไปจากผู้มีอำนาจและเปลี่ยนมันเป็นนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ผมอยู่กับท่านด้วย ผมจึงทราบว่าท่านมิได้ออกนโยบายเหล่านั้นในเชิงปรัชญา ท่านเพียงแต่ต้องการทำงานของท่าน ท่านต้องการให้ประชาชนชอบท่าน รักท่าน ต้องการเป็นคนรวยที่มีประโยชน์ นั่นเป็นแนวทางการทำงานของท่าน แต่วิธีการง่ายๆ ของท่าน ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับระบบอุปถัมภ์ เพราะสิ่งที่ท่านทำได้ปลดเปลื้องระบบเดิมอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 5 ปี

(ฉบับจักรภพ น.9)

…หรืออีกนัยหนึ่งเกิดความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งว่าไม่ควรไว้วางใจในตัวทักษิณ เพราะทักษิณละเมิดกฎที่ว่าด้วยการพึ่งพาอาศัยคนอื่นๆ ทักษิณเริ่มต้นการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำคนอื่นๆ และนั่นเป็นสิ่งชั่วร้ายในระบบอุปถัมภ์ ทักษิณจะผิดหรือถูกคงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์จะตัดสิน

(ฉบับ ปชป.)

…ทักษิณเป็นคนที่เขาไม่อาจไว้วางใจเพราะทักษิณละเมิดกฎของการที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นอีกต่อไป และสำหรับระบบอุปภัมภ์แล้วนั่นคือบาป ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินว่าทักษิณผิดหรือถูก

(ฉบับจักรภพ น.10)

…แม้แต่นายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจด้วยพลังของประชาชน เพราะสิ่งที่เขาทำเพื่อปลดปล่อยประชาชนจากระบบอุปถัมภ์ แต่ในเวลาที่สำคัญที่สุดที่ต้องตัดสินใจภายใต้วิกฤต เขากลับตัดสินใจจากมุมมองจากความคิดในระบบอุปถัมภ์ ดังนั้น ระบบอุปถัมภ์ได้ฝังรากลึกมาก และเป็นการขัดแย้งทางอ้อมกับวิถีทางของประชาธิปไตย เราต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ เราต้องทำให้ระบบอุปถัมภ์กลายเป็นเรื่องของบุคคลโดยการระบุไปเลยว่าใครยังคงให้การอุปถัมภ์ประชาชน และผมก็เชื่อว่าบัดนี้คือเวลาที่เราต้องทำเช่นนั้น

(ฉบับ ปชป.)

…ท่านได้อำนาจจากประชาชนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านปลดปล่อยประชาชนให้หลุดจากระบบอุปถัมภ์ แต่เมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ท่านกลับตัดสินใจตามระบบอุปถัมภ์ ที่นี่ระบบอุปถัมภ์หยั่งรากลึกมาก และก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยตรงกับการสร้างประชาธิปไตย เราต้องปลดเปลื้องมัน เราต้องชี้ให้เห็นตัวตนของระบบอุปถัมภ์ โดยถามว่า ใครกันที่ชอบทำตัวเป็นพี่เลี้ยงคอยอุปถัมภ์ประชาชน และผมก็เชื่อว่ามันใกล้ถึงเวลาที่ต้องทำเช่นนั้นแล้ว

(ฉบับจักรภพ ช่วงถาม-ตอบ)

…คุณทักษิณอายุเกือบจะ 60 ปีแล้ว อย่างที่รู้กันว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขมาก และตอนนี้ก็ดูเขาจะมีความสุขมากกว่าเดิมกับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ดังนั้น ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าคุณทักษิณจะต้องการได้ตำแหน่งนั้นหรือไม่ เขามีความสุขกับการเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ตามที่คุณทักษิณบอกไว้ว่าถ้าเจ้าของไม่ชอบสิ่งที่เขาทำ ผู้จัดการมืออาชีพอย่างเขาต้องไปทำงานให้กับบริษัทอื่น ทัศนคติแบบนั้นไม่มีความเป็นนักปฏิวัติเลย สำหรับสภาวะผู้นำใหม่ที่ผมพูดถึงจะต้องมีความเป็นนักปฏิวัติมากกว่านี้

(ฉบับ ปชป.)

…ทักษิณตอนนี้อายุใกล้ 60 แล้ว และท่านเป็นคนที่มีความสุขดี ยิ่งตอนนี้ท่านมีความสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากทีมฟุตบอล Manchester City ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจเลยว่าคุณทักษิณอยากจะสวมบทบาทนี้ ท่านสนุกกับการเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย แต่ตามที่ท่านได้กล่าว ถ้าเจ้าของไม่ชอบในสิ่งที่ท่านทำ ผู้จัดการมืออาชีพอย่างท่านก็สามารถไปทำงานให้บริษัทอื่นได้ ทัศนคติอย่างนั้นเป็นอะไรที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิวัติเท่าใดนัก ดังนั้น ภาวการณ์นำที่ผมพูดถึงต้องมีความเป็นนักปฏิวัติมากกว่า

(ฉบับจักรภพ)

เพราะเขาไม่รู้ถึงผลกระทบของสิ่งที่เขาทำ แต่สักวันในอนาคตเขาจะตระหนักถึงผลกระทบเหล่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดถึงจริงๆ แล้วคือการเป็นผู้นำเพื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คุณทักษิณไม่ใช่เผด็จการจากที่ผมเคยทำงานกับเขา ผมจะเป็นคนที่เดินจากคุณทักษิณเองถ้าเขาต้องการ แต่เขาเป็นแค่คนที่ยึดมั่นกับความคิดของตน และพยายามทำงานของตัวเองให้เสร็จ ซึ่งไม่เคยมีผู้นำคนใดในประเทศไทยทำลงไป คุณยืนยันว่านั่นคือสิ่งที่คุณต้องทำ และนั่นคือความเป็นผู้นำ และสิ่งนั้นอาจถูกตีความโดยใครบางคนว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้าคุณได้พบเขาด้วยตัวคุณเอง และใช้เวลาอยู่กับเขา คุณจะรู้ว่าเขาไม่ได้มีเชื้อเผด็จการอยู่ในตัวเขา แต่ผมไม่ได้บอกว่าคุณทักษิณเป็นซูเปอร์แมน แต่เขาดีกว่าผู้นำเก่าๆ ที่ผมถูกสั่งให้เคารพ ผมพร้อมจะทำงานภายใต้สามัญชนที่มีความดีเพียงครึ่งเดียว มากกว่าที่จะทำงานให้กับขุนนางที่ว่างเปล่า

(ฉบับ ปชป.)

ผลกระทบจากสิ่งที่ท่านทำ แต่ต่อมาท่านก็ตระหนักว่าสิ่งที่ท่านทำ ทำให้เกิดผลกระทบ ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดถึงที่จริงคือภาวะการนำร่วม ทักษิณไม่ใช่เผด็จการ ผมทำงานกับท่าน และผมจะเป็นคนแรกที่จะก้าวออกจากท่าน ถ้าท่านเป็นเผด็จการ แต่ท่านเป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่มุ่งมั่นในจุดยืนของตนเอง และพยายามที่จะทำงานให้สำเร็จ ไม่เคยมีผู้นำของไทยคนไหนที่เป็นแบบนี้ ดังนั้น มันจึงเป็นเผด็จการในความคิดของประชาชน เพราะคุณมุ่งมั่นในจุดยืนของตัวเอง คุณยืนกรานว่าจะต้องทำให้ได้ภายใต้ภาวะการนำของคุณ ซึ่งก็ถูกคนบางคนตีความว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้าคุณได้พบท่านเป็นการส่วนตัว ได้ใช้เวลาอยู่กับท่าน คุณจะรู้ว่าท่านไม่ใช่ ท่านไม่มีลักษณะเช่นนั้นอยู่ในตัวของท่าน ผมไม่ได้บอกว่าท่านเป็นซูเปอร์แมน แต่ท่านดีกว่าผู้นำแก่ๆ ที่มีคนบอกให้ผมเคารพ ผมอยากจะทำงานภายใต้สามัญชนที่ดีเพียงครึ่งเดียวมากกว่าที่จะทำงานให้กับผู้สูงศักดิ์ที่ว่างเปล่า

ที่มา มติชน วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11035 หน้า 11

แท็ก คำค้นหา