หัวหน้าสาขานิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.อัสสัมชัญในอดีตที่ผ่านมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันหมายถึงการแก้ไขในแง่ของการปรับหรือเพิ่มเติมถ้อยคำรวมทั้งข้อความในมาตราที่เห็นว่ามีปัญหาอยู่หลายครั้งซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งเมื่อใช้ไปอาจจะต้องมีการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ หรือเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างไรก็ตาม ควรจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญประการหนึ่ง อันได้แก่หลักการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกลไกในการป้องกันมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างพร่ำเพรื่อจนกระทั่งมีความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีความศักดิ์สิทธิ์และมิได้มีความสำคัญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ในปัจจุบัน มีหลายฝ่ายออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งจากวันที่มีการลงประชามตินับเป็นระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ซึ่งมีผลคะแนนเห็นชอบ 14,727,306 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 56.69 และไม่เห็นชอบ 10,747,441 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.37
โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลแตกต่างกันออกไปถึงความเหมาะสมในการแก้ไขดังกล่าวอันสรุปเป็นประเด็นหลักได้แก่
1.ระยะเวลา เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเพิ่งผ่านการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาไม่นานนักจึงสมควรหรือไม่ที่จะทำการแก้ไข นอกจากนี้ หากมีการแก้ไขจริงก็ควรจะมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการแก้ไขมิใช่กระทำไปด้วยความเร่งรีบอันจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามมาในภายหลัง
2.เนื้อหา ควรจะได้มีการพิจารณาและศึกษาถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาหรืออาจจะก่อให้เกิดปัญหาจริงๆ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขให้เข้ากับภาวะปัญหาของประเทศและเพื่อประโยชน์สาธารณะ
3.ผู้ที่ทำการแก้ไข ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นได้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาชนยอมรับเนื่องจากเป็นการดีกว่าที่คณะปฏิวัติจะเป็นผู้ทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้ด้วยตนเอง
4.การลงประชามติ โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นผ่านความเห็นชอบของประชาชนโดยการลงประชามติจึงมีประเด็นว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ควรจะได้มีการลงประชามติในขั้นตอนสุดท้ายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนมีความวิตกคือปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นกับคำว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งได้แก่การเลิกใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมีแนวความคิดจากบุคคลบางคนว่าจะให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาเป็นหลักแล้วปรับเอาหลักการที่ดีบางประการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้
ซึ่งในทรรศนะของผู้เขียนนั้นเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดของไทยฉบับหนึ่ง
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายแต่อย่างใดสำหรับประชาชน เนื่องจากได้เพิ่มหลักการที่ดีต่อสวัสดิการของประชาชนขึ้นมาหลายประการ
โดยที่แนวคิดข้างต้นนั้นถือเป็นการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยเป็นการผสมผสานระหว่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หากมีการประกาศใช้ก็เท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยอ้างคำว่าแก้ไขบังหน้าเนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยนั้นมิได้มีหมวดที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ซึ่งการกระทำดังกล่าวดูแล้วไม่น่าจะถูกต้องและเป็นการฝืนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องการพ้นจากสภาวะการปฏิวัติไปสู่ประชาธิปไตยและต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดูแลปัญหาในยามที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและความสามัคคีของคนในชาติเป็นปัญหาหลักของประชาชน…
มิใช่ปัญหาจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ
ที่มา มติชน วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11020 หน้า 6