Citizen Journalism…วารสารศาสตร์พลเมือง (1)

โดย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

มติชนออนไลน์ ขอนำเสนอบทความดีๆ จากเว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยเรื่องหนึ่งที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นำเสนอเกี่ยวกับสื่อมวลชนและผู้เสพข่าวในยุคปัจจุบัน ที่มีพัฒนาการและบทบาทที่น่าสนใจอย่างมาก

เชื่อไหมครับว่า…ทุกวันนี้ เครดิตของ “นักข่าว” ทั่วโลกกำลังตกต่ำ !?!
คนเสพสื่อจำนวนไม่น้อยเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของนักข่าวที่ส่งผ่านสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ว่ามีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นกลาง และให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

ในสหราชอาณาจักร มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่ง เขาไปสอบถามความคิดเห็นของคนอังกฤษเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้คนอาชีพต่างๆ ปรากฏว่าคนอังกฤษเชื่อถืออาชีพนักข่าวว่าพูดความจริงเพียงแค่ร้อยละ 16 เท่านั้น น้อยกว่าอาชีพนักการเมืองเสียอีกนะครับ
เพราะงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ระบุว่า คนอังกฤษให้ความเชื่อถือว่านักการเมืองพูดความจริงร้อยละ 20
สำหรับเมืองไทย หากใครที่เล่นอินเตอร์เนท แล้วมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชมกระดานข่าว การเมืองอย่างโต๊ะราชดำเนินแห่งพันทิปดอทคอม คงจะสังเกตเห็นว่าอาชีพที่ถูกสังคมไซเบอร์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไม่แพ้อาชีพนักการเมือง คืออาชีพนักข่าว
ประเภทว่า หากมีใครตั้งกระทู้เกี่ยวกับนักข่าวขึ้นมา มักจะมีผู้ร่วมแจมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
อะไรทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ครับ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักว่า การรายงานข่าวของนักข่าวไม่ได้บอกเล่าความจริงอย่างครบถ้วน รอบด้าน อย่างแท้จริง
ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น จำนวนมากไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ
บางครั้งปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างไม่จงใจ หากแต่เกิดจากอุดมการณ์หลัก (The dominant ideology) ที่ครอบงำนักข่าว อาทิ แนวคิดด้านการพัฒนา เรื่องเพศสภาพ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นผลให้ข้อมูล ข่าวสารบางอย่างถูกเซ็นเซอร์โดยตัวนักข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวเองอย่างอัตโนมัติ (Self censored)
แต่บางครั้งข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นก็ถูกตัดทอน บิดเบือนโดยเจตนา เนื่องจากสื่อถูกควบคุม ครอบงำ ชี้นำโดยองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่
ลักษณะของการสื่อสารเช่นนี้ หากเอาทฤษฏีทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ไปวิเคราะห์จะเห็นได้ว่า การนำเสนอข่าวของนักข่าวมีลักษณะของ “การสื่อสารทางเดียว” (One-way Communication) หรือที่นิยมเรียกกันว่า เป็นนายทวารข่าวสาร (Gatekeeper)
โดยนักข่าวจะเป็นผู้ส่งสาร มีอำนาจในการเลือกส่งหรือไม่ส่งข้อมูลข่าวสารใดๆ ก็ได้ให้กับผู้รับสาร

ส่วนผู้รับสาร ซึ่งในที่นี้ก็คือคนอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ คนฟังข่าวจากสถานีวิทยุ หรือดูจากโทรทัศน์ล้วนอยู่ในสภาพของการถูกกระทำ (Passive) จำต้องรับข่าวสารอย่างจำนน
หากใครไม่เห็นด้วยต้องการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่นำเสนอในข่าว พวกเขาทำได้อย่างมากคือการเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์ไปร้องเรียน ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนกองบรรณาธิการข่าวจะตอบสนองต่อข้อร้องเรียนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วข้อร้องเรียนเหล่านั้นมักจะตกหล่นอยู่ในถังขยะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
นั่นคือ วารสารศาสตร์แบบยุค 1.0
ในอดีต…องค์กรภาคประชาชน นักเคลื่อนไหวทางสังคมเลือกการถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ด้วยการผลิตสื่อทางเลือกของตนเอง (Alternative Media) ทั้งการทำใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ หนังสือ เวบไซด์ ฯลฯ แต่สำหรับปัจเจกชน คนธรรมดาเดินดินทั่วไปดูเหมือนการทำสื่อทางเลือกเพื่อแสดงจุดยืน สะท้อนความคิดเห็น หรือรายงานข้อเท็จจริงที่ตนประสบจะเป็นเรื่องใหญ่โต ยุ่งยาก เกินความสามารถ
จนกระทั่งทุกวันนี้ นวัตกรรมด้านการสื่อสารได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์การสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของคนเมือง อุปกรณ์คู่กายชิ้นนี้ได้พัฒนาเชื่อมรวม(Convergence) ทั้งโทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพ ถ่ายคลิปภาพเคลื่อนไหว วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องอัดเสียง ฯลฯ เข้าด้วยกัน
ดังนั้น การเก็บภาพบันทึกเสียงเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างการเกิดระเบิด เกิดภัยพิบัติ หรือแม้กระทั่งการแอบถ่ายการเรียกเก็บส่วยของข้าราชการ จึงกระทำได้โดยง่าย
ส่วนเทคโนโลยีของโลกอินเตอร์เนทก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน เราสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนทความเร็วสูงได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวในโลกไซเบอร์ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการทำ Blog ส่วนตัว เพื่อเป็นกระบอกเสียง หรือเป็นสื่อของตนเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้ Blog ของตนเองสื่อสารแนวคิด ทัศนคติ มุมมองต่อประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายคนใช้เพื่อตอบโต้ ถ่วงดุลกับข้อมูลข่าวสารของนักข่าวในสื่อกระแสหลักต่างๆ
หลายคนได้ใช้ Blog เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าถึงข่าวสารความเป็นไปของชุมชนของตนเอง ทั้งชุมชนในรูปแบบของภูมิศาสตร์ และชุมชนในเชิงจิตนาการมากขึ้น
ผู้คนเหล่านี้ละครับ ที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น นักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist)
Mark Glaser นักคิด นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อได้ให้คำจำกัดความของ วาสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) ว่าหมายถึง “…ประชาชนทั่วๆไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้เป็นนักข่าวมืออาชีพ แต่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีอันทันสมัย รวมถึงการใช้อินเตอร์เนทในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง หรือตรวจสอบข้อมูลของสื่อด้วยตัวเอง…”
Mark ได้ยกตัวอย่างว่า นักข่าวพลเมืองสามารถเขียนรายงานข่าวการประชุมสภาชุมชนลงนำเสนอใน Blog หรืออาจจะตรวจสอบข่าว ข้อเขียน บทความในสื่อกระแสหลัก แล้วเขียนวิพากษ์วิจารณ์ชี้จุดด้อย ข้อผิดพลาด การเอียงเอน ไม่เป็นกลางของนักข่าว คอลัมนิสต์ลงใน Blog หรืออาจจะถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปวีดีโอเกี่ยวกับชุมชนลงนำเสนอในสื่ออินเตอร์เนท อย่าง Blog หรือแม้แต่ในเวบวีดีโอออนไลน์อย่าง YouTube
บางคนอาจแสดงความคิดเห็นผ่าน Social media หลากหลายรูปแบบ เช่น Twitter, Facebook ก็ได้
ที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองได้สร้างผลงานเฉียบๆหลายต่อหลายเรื่อง ชนิดนักข่าวมืออาชีพยังต้องขอนำข้อมูล ภาพและข่าวสารไปนำเสนอต่อในสื่อกระแสหลักมาแล้ว
อาทิ ภาพระเบิดในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนเมื่อหลายปีก่อน มีนักข่าวพลเมืองซึ่งอยู่ในเหตุการณ์สามารถจับภาพความโกลาหล กลุ่มควัน และภัยพิบัตินั้นได้
หรือภาพเหตุการณ์ เรื่องราว การประท้วงของพระสงฆ์ในประเทศพม่า อันนำมาซึ่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเข่นฆ่าพระสงฆ์และนักข่าวชาวญี่ปุ่นกลางเมือง ถูกถ่ายและนำเสนอโดยนักข่าวพลเมืองเช่นกัน
แม้กระทั่งเหตุการณ์วินาทีที่ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำของอิรักถูกแขวนคอประหารชีวิตก็ถูกนำเสนอออกมาจากนักข่าวพลเมืองนิรนามก่อนสื่อยักษ์จะนำไปถ่ายทอดเผยแพร่ทั่วโลก
นี่ อาจจะเรียกว่าเป็น วารสารศาสตร์ยุคใหม่…ยุค 2.0
เมื่อผู้เสพสื่อ…ผู้รับสาร ไม่ได้ทำหน้าที่แค่นั่งเฉยๆ คอยรอรับข้อมูล ข่าวสารที่ส่งผ่านมาทางสื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) เพราะผู้เสพสื่อก็กลายสภาพเป็นผู้กระทำ (Active) หรือผู้ส่งสารไปด้วยในตัว
พูดง่ายๆคือ แทนที่คนอ่านข่าวจะนั่งเฉยๆรับข้อมูลฝ่ายเดียว ก็สามารถเขียนหรือนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร กลับไปยังสื่อหรือส่งสารไปถึงนักข่าวอีกด้านหนึ่งได้เช่นกัน
ขณะเดียวกันการส่งสารดังกล่าวยังเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังสาธารณชน (Public) หรือชุมชน (Community) ได้ร่วมรับรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอีกด้วย
ลักษณะเด่นอีกประการของ วารสารศาสตร์พลเมือง (Citizen Journalism) คือ นักข่าวสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่างเป็นอิสระ ปลอดจากการควบคุมของภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
ดังนั้นจะเขียน จะนำเสนออะไรก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเซ็นเซอร์ ถูกยุบรายการ หรือถูกตัดความช่วยเหลือด้านเงินทุน
วารสารศาสตร์พลเมืองนี้ละครับ ที่นับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 12:01:09 น.

แท็ก คำค้นหา