เป็นภาระหน้าที่ของผู้เขียน ที่ต้องใช้เวลาส่วนมากกับการเฝ้าดูรายการโทรทัศน์ในฟรีทีวี ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เฝ้าชมรายงานข่าวของสื่อฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องว่า มีพฤติกรรมการรายงานข่าวชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างไร
ผลการนั่งดูข่าวฟรีทีวีพร้อมๆ กันทั้ง 6 ช่องในช่วงการชุมนุม มีแง่มุมที่น่าสนใจต่อคุณภาพของการรายงานข่าวของสื่อฟรีทีวี ดังนี้
• สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เกาะติดการรายงานได้ดี แต่ช่วงแรกประเด็นข่าวอ่อน มีแต่ข่าวจราจร แต่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นหลังจากรัฐบาลตั้งหลักได้ สิ่งที่ควรปรับปรุงคือการเพิ่มความลึกของประเด็นข่าว ควรมีรายงานข่าวเชิงสืบสวน สารคดีเชิงข่าวอธิบายที่มาที่ไปของม็อบนปช. อธิบายข่าวเชิงตีความในทางที่เป็นกลาง
• สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เกาะติดประเด็นข่าวได้ดี มีรายงานพิเศษอธิบาย แต่ควรทำให้มีความลึก มีบทวิเคราะห์เชิงลึก อธิบายที่มาที่ไปของเหตุการณ์ให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคย
• สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เกาะติดสถานการณ์ได้ดี ค่อนข้างรอบด้าน แต่ยังขาดข่าวเชิงสืบสวน ตีความ หรือสกู๊ปพิเศษ
• ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 พื้นที่ข่าวน้อย ควรระมัดระวังเรื่องการแสดงความคิดเห็นในรายการคุยข่าวเล่าข่าว เน้นเฉพาะข้อเท็จจริงให้มากขึ้น ลดลีลา ความหวือหวาลงมา เน้นประเด็นข่าวให้ลึก รอบด้านมากขึ้น และควรอธิบายข่าวด้วยความเป็นกลาง
อย่างไรก็ตาม โดยรวมพบว่า ฟรีทีวีควรปรับปรุงการรายงานข่าวดังนี้
ประการแรก สื่อควรให้ความสำคัญในเชิงพื้นที่ข่าวอย่างเพียงพอ เนื่องจากฟรีทีวีส่วนมากยังคงรายงานข่าวการชุมนุมนี้อย่างเป็นปกติ มีเพียง 2 ช่องเท่านั้นที่ค่อนข้างรายงานการชุมนุมทางการเมืองอย่างเกาะติด
คำว่า “เกาะติด” ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หมายถึง “การให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ-กว่าปกติ” ซึ่งบทบาทที่ควรคาดหวังจากสถานีโทรทัศน์คือการ “เพิ่มพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น” คือควรมีรายงานพิเศษในช่วงข่าวปกติ มีรายการพิเศษที่จัดขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรายงานเกาะติดสถานการณ์
การที่สถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง “คงไว้ซึ่งรายการหลักปกติ” สะท้อนความหมาย 2 อย่างคือ
1) ผู้บริหารสถานีอาจมองไม่เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ (การชุมนุมทางการเมืองในระดับความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ ไม่ว่าจากกลุ่มพันธมิตรฯ หรือนปช. ต่างมีความสำคัญทั้งสิ้น) ผู้บริหารองค์กรย่อมเป็นผู้ที่สามารถใช้วิจารณญาณส่วนตนคิดได้ว่าจะเลือกอะไร ระหว่างรายการบันเทิงตามผังเวลาปกติ ที่มองผู้ชมในฐานะลูกค้า-ผู้บริโภค หรือความสำคัญจำเป็นของข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติทางการเมืองที่ประชาชนต้องการ ในฐานะพลเมืองในระบอบสังคม
2) อาจไม่มีทีมข่าวที่มีศักยภาพเพียงพอ จึงทำให้ไม่สามารถสั่งทีมข่าวที่มีอยู่ (โดยปกติแล้ว ทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์ 1 ช่องโดยมาตรฐานควรอยู่ที่ราว 20-30 ทีม 1 ทีมประกอบด้วย 3 คนเป็นอย่างน้อย ยังไม่นับรวมกองบรรณาธิการข่าวส่วนกลาง) เมื่อไม่มีทีมข่าวที่เพียงพอ สิ่งที่ทำได้คือส่งนักข่าวไป “ประจำตามจุดสำคัญๆ” และใช้วิธีการ “รายงานสรุปเหตุการณ์ตามจุดต่างๆ” ซึ่งก็พบว่ามีเพียง 3-4 จุดสำคัญๆ คือหน้าบ้านพักองคมนตรี ทำเนียบรัฐบาล หน้ากองบังคับการตำรวจนครบาล (ทั้งส่วนกองบังคับการ และกองจราจร) และโรงแรมรอยัลคลิฟบีชพัทยา
การรายงานข่าวลักษณะที่ประจำตามจุดต่างๆ นั่นหมายความน่านักข่าวประจำภาคสนามจะทำได้เพียงแค่ “รอให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างแล้ว รวบรวมให้ได้ข้อมูลพอประมาณ แล้วรายงานออกไป” นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการรายงานข่าวบ้านเราในปัจจุบัน นักข่าวขาดคุณลักษณะสำคัญคือ “จมูกข่าว” คือไม่มีสัญชาตญาณในการค้นหาแง่มุมของข่าวด้วยตนเอง ประเด็นข่าวที่ถูกรายงานจึงกลายเป็น “ความคืบหน้าของเหตุการณ์-สถานการณ์” ถือเป็นการรายงานข่าวประเภท “ข่าวเหตุการณ์” (events news)
ข้อดีของข่าวเหตุการณ์คือ การรายงานให้ผู้ชมทราบว่าตอนนี้สถานการณ์กำลังคืบหน้าเป็นอย่างไร แต่คุณภาพของการรายงานข่าวที่ปรากฏในโทรทัศน์คือมีเพียงไม่กี่จุดที่ผู้สื่อข่าวประจำอยู่ ทั้งๆ ที่ความสำคัญของการเคลื่อนไหวขบวนผู้ชุมนุมนั้น มิสามารถรายงานเพียงจุดนิ่งๆ อยู่ได้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “เกาะติดสถานการณ์-เหตุการณ์นั้นให้เสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง” พูดง่ายๆ คือ เข้าไปรายงานข่าวท่ามกลางขบวนผู้ชุมนุมนั่นเอง แต่นักข่าวอาจกังวลถึงความปลอดภัย ซึ่งก็ควรหามาตรการ-แนวทางการป้องกันตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของข่าว เพราะที่เห็นจากฟรีทีวี มีผู้สื่อข่าวภาคสนามข่าวน้อยมากที่ลงไปเก็บภาพข่าวในเหตุการณ์จริง กลับเน้นใช้ภาพกล้องวงจรปิดจากศูนย์จราจรของตำรวจเสียมาก
เข้าใจว่า นักข่าวจะต้องกลับมาถ่ายทอดสัญญาณกลับไปยังสถานี จึงไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ ภาพข่าวที่ปรากฏคือผู้สื่อข่าวภาคสนามจึง “ซ้ำอยู่ที่เดิม และฉายวนตลอดวัน” อีก
สาเหตุหนึ่งที่ไม่อยากนำมาพิจารณาคือ นักข่าวส่วนมากลางานในช่วงวันหยุดไปพักผ่อนกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้
ประการที่สอง ควรรายงานข่าวให้มีความลึก ความรอบด้านมากขึ้น เนื่องจากพบว่าข่าวที่รายงานค่อนข้างมีความซ้ำกันในแต่ละช่อง รายงานเหตุการณ์เปลือกผิว และขาดความรอบด้านของข้อมูล ดังนี้
1) ประเด็นข่าวซ้ำกัน และย้ำหลายรอบในแต่ละวัน ประเด็นข่าวหลักๆ (กว่า 2 ใน 3) ของประเด็นข่าวฟรีทีวีซ้ำกันในเกือบทุกช่อง เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นไม่กี่จุด ประเด็นข่าวจึงมีไม่มาก เช่น บรรยากาศการชุมนุม การเคลื่อนขบวน รถนายกรัฐมนตรีถูกทุบ การปิดถนนและพื้นที่สำคัญ หากนับเอาวันที่ 11-12 เมษายนรวมเข้าได้ ก็คือการชุมนุมประท้วงเวทีประชุมอาเซียน และการประกาศพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหล่านี้คือ “จุดศูนย์กลางของประเด็นข่าว” ที่สื่อฟรีทีวีรายงานซ้ำในรอบวันเดียวกันในรายการต่างๆ และยังรายงานซ้ำกันข้ามวันอีกต่างหาก
ในทางหนึ่ง เข้าใจว่าเหตุการณ์จริงไม่ได้พัฒนาไปมาก จึงไม่รู้จะนำเอาเนื้อหาใดมารายงาน เมื่อถึงเวลารายการข่าวภาคหลัก สิ่งที่ทำได้คือสรุปข่าวที่เคยรายงานไปแล้วมารายงานซ้ำ
หลักฐานยืนยันคือภาพข่าวมีความซ้ำกัน และไม่ระบุวันเวลาของภาพข่าวที่ใช้ ไม่ระบุว่าข่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงเห็นภาพข่าวบุคคลต่างๆ ทางการเมืองที่สำคัญออกอากาศซ้ำไปซ้ำมา
นอกจากแต่ละช่องจะ “ฉายซ้ำภาพข่าวของตนเองแล้ว” บางรายการข่าวยัง “ผลิตซ้ำข่าวจากหนังสือพิมพ์” ด้วย
ข้อสังเกตง่ายๆ ที่เป็นหลักฐานคือ ผู้ประกาศข่าวจะไม่ระบุวันเวลาสถานที่ของเหตุการณ์ (องค์ประกอบข่าวที่ตัดไปคือ “เมื่อไร”-when) แต่จะตัดเข้าสู่เนื้อหาสาระคำพูดของแหล่งข่าวว่า ใครพูดอะไร อย่างไร โดยละเอียดมากเกินไป และบางช่องกลับทำพียงแค่ “แตะๆ ประเด็นหน้าหนึ่งว่ามีอะไรบ้าง” ไม่ได้ให้รายละเอียดเนื้อหาข่าวเลย
2) ข่าวที่ขาดความรอบด้าน เพราะพบว่าแหล่งข่าวมาจาก 2 ฝ่ายหลักคือ ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เจาหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา และฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมนปช. และกลุ่มผู้ชุมนุม การใช้แหล่งข่าวซ้ำเพียงไม่กี่กลุ่มบุคคลคนถือว่าเป็นเรื่องปกติในการข่าว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้คือศูนย์กลางของความขัดแย้ง เป็นบุคคลซึ่งมีคุณค่าข่าวสูง ย่อมมากกว่าบุคคลทั่วไป นั่นคือแนวคิดเรื่องคุณค่าข่าวที่ยึดบุคคลแหล่งข่าวเป็นหลัก
แต่สำหรับกรณีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองนั้น คุณค่าข่าวที่สำคัญคือกว่าคือ ความคิดเห็นที่หลากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงฝ่ายที่สาม ฝ่ายที่สี่ อย่างนักวิชาการ อาจารย์ นักสังคมศาสตร์ นักกฎหมาย นักธุรกิจ ผู้แทนหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ หรือผู้คนที่สังคมให้ความยอมรับ และหมายรวมถึงประชาชนจริงๆ ที่มีความคิดเห็นต่างๆ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ความรอบด้านของข่าวย่อมหมายถึงแหล่งข่าวที่สมดุลทั้งสาม-สี่ด้าน มิใช่เพียงคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพื้นที่ข่าวจากฝั่งประชาชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
สุดท้าย อาจมีข้อสงสัยด้วยว่า ทีวีบางช่อง เช่นทีวีไทย หรือช่อง 11-สทท. นั้นเหตุใดจึงให้พื้นที่ข่าวแก่ฝ่ายนปช.มากกว่ารัฐบาล (ในช่วงแรก 8-9 เมษายน ส่วนวันที่ 10-11 เมษายนนั้น ฝ่ายรัฐบาลเริ่มช่วงชิงพื้นที่ข่าวได้มากกว่า)
ข้อค้นพบคือ พื้นที่ข่าวฟรีทีวีทุกช่องล้วนให้แก่ฝั่งผู้ชุมนุมนปช. สูงกว่าฝ่ายรัฐบาล ยกเว้นเสียงแหล่งข่าวที่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่า แต่เมื่อผ่านเข้าสู่วันที่ 9-10 ฝ่ายรัฐบาลก็ชิงพื้นที่ข่าวได้มากกว่า ด้วยการออกแถลงการณ์ที่มีความถี่บ่อยเพื่อโต้ตอบ ให้ข้อมูลที่สังคมต้องการ
ที่สุดแล้ว เหตุการณ์ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในแง่สื่อสารมวลชน คือสงครามการแย่งชิงพื้นที่ข่าวสาร
พื้นที่ข่าวสารสำหรับรัฐบาล เพื่อกระจายข่าวสารแก่ประชาชน เพื่อโต้ตอบทางการเมือง เพื่อแสดงบทบาทอำนาจรัฐที่ปกครอง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้
พื้นที่ข่าวสารสำหรับคุณทักษิณ ชินวัตร เพื่อการปลุกระดมกระแสมวลชนเพื่อประเด็นของตนได้รับความสนใจ เพื่อต่อสู้ทางการเมือง เพื่อทำลายความเชื่อมั่นและทำลายภาพลักษณ์ประเทศ
พื้นที่ข่าวสารทั้งสองแนวทางนี้เป็นพื้นที่ข่าวสารแห่งความขัดแย้ง สื่อควรระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใด แต่สื่อควรทำให้เป็น “พื้นที่ข่าวสารของประชาชน” ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงต้องการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของพวกเขา และไม่เพียงแค่รายงาน แต่สื่อควรให้ความรู้แก่สังคมที่ถูกต้อง ให้มีรายกาโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาด้านการเมืองที่ไม่จำกัดเฉพาะในรายการข่าว อาจเป็นรูปแบบรายการสารคดีเชิงข่าว หรือรายการสนทนารายการวิเคราะห์ข่าวให้มากขึ้น
เพราะในสังคมประชาธิปไตย สงครามข่าวสารมิใช่เพียงแค่พื้นที่ในรายการข่าว แต่ยังหมายรวมถึงบทบาทในการให้ความรู้ทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และในสงครามข้อมูลข่าวสาร มิได้หมายความมีเฉพาะสีเหลืองกับสีแดง รัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่ยังมีเสียงของประชาชนผู้ซึ่งต้องการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เที่ยงธรรมโดยไม่จำเป็นต้องลงไปช่วงชิงพื้นที่ข่าวสารในความขัดแย้งกับใคร
ธาม เชื้อสถาปนศิริ
นักวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 20:40:52 น.