ไม่ง่ายหรอก

“แม่ลูกจันทร์”

 

วิกฤติการเมืองไทยที่มะรุมมะตุ้มกันมา 3-4 ปี ส่งผลให้ส่งผลให้สังคมแตกแยกแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย แบ่งสี “เหลือง-แดง” แทบจะแยกแผ่นดินกันอยู่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำเติมวิกฤติชาติที่กำลังเผชิญมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจโลก ยิ่งมีรัฐบาลที่มาจากการพลิกขั้ว ก็ยิ่งเจอแรงต้านจากฝ่ายตรงข้าม หนักหน่วงหลายเท่าทวีคูณ

ก็อย่างที่เห็นๆกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรี ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการต่างจังหวัด

ต้องระดมกำลังตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร ฝ่ายปกครอง ตรึงกำลังป้องกันรักษาความปลอดภัยกันเต็มที่

แต่กระนั้นก็ยังไม่วายโดนม็อบเสื้อแดงรวมตัวต้อนรับ ทั้งขวดน้ำ รองเท้าแตะ ปลิวว่อน แถมด้วยรัวตีนตบ โห่ฮาขับไล่ ครบเครื่อง!!!

แม้สามารถฝ่าด่านม็อบปฏิบัติภารกิจในพื้นที่สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความทุลักทุเล ไม่บริดวกบริบายเท่าที่ควร ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้ประชาชนไม่ลื่นไหล

ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายจึงพยายามเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทยให้กลับคืนมาหลากหลายวิธี

หนึ่งในนั้น ก็คือการปฏิรูปการเมือง ที่นายกฯอภิสิทธิ์เป็นผู้เสนอไอเดีย ตั้งแต่ ช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ

โดยล่าสุด สถาบันพระปกเกล้าได้มีมติรับหน้าเสื่อที่จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาพัฒนา

ประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง

บรรจงมอบเผือกร้อนๆให้นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เป็นประธานคณะกรรมการอิสระฯชุดนี้

และจะให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนประมาณ 50 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยมีการกำหนดที่มากันไว้คร่าวๆ อาทิ

มาจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านฝ่ายละ 1 คน มาจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากประธานวุฒิสภา 2 คน มาจากกลุ่มพันธมิตรฯและกลุ่ม นปช.เสนอชื่อฝ่ายละ 1 คน

มาจากการเสนอชื่อของกรรมการสถาบันพระปกเกล้า มาจากคณบดีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั้ง 4 ภาคเสนอชื่อ มาจากการเสนอชื่อของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ผู้แทนกองทัพไทย ผู้แทนสันนิบาตเทศบาล

มาจากผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสื่อมวลชน ผู้แทนวิทยุชุมชน ผู้แทนเอ็นจีโอ เป็นต้น

โดยคณะกรรมการอิสระฯชุดนี้จะทำหน้าที่รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย และรับฟังความเห็นจากประชาชน 76 จังหวัด

จากนั้นจะจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆอีกครั้ง เพื่อนำข้อเสนอมาปรับปรุงเป็นข้อสรุปสุดท้าย

เพื่อส่งให้ ครม. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา โดยใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปสุดท้ายรวม 8 เดือน

จากนั้นจะใช้เวลาอีก 3 เดือน ในการได้ มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อให้มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน

สิริรวมเบ็ดเสร็จต้องใช้เวลายาวนาน ถึง 1 ปี 7 เดือน

ที่สำคัญ การขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองรอบนี้จะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระฯของสถาบันพระปกเกล้า

โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มม็อบเสื้อแดงที่ยืนอยู่คนละขั้วกับรัฐบาล

ถ้าคนเหล่านี้ไม่ยอมรับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า การปฏิรูปการเมืองก็คงสะดุดไม่เป็นท่า

คิดง่าย พูดง่าย แต่เวลาทำจริงๆ มันยากนะโยม!!!

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  [12 มี.ค. 52 – 15:50]

แท็ก คำค้นหา