โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน
ในท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง แตกแยกกันอย่างรุนแรงถึงขั้นชุมนุมประท้วง ขับไล่ ยึดทำเนียบ บุก (รุก) เอ็นบีที ปิดสนามบิน ใช้มือตบ-ตีนตบเขย่าใส่ ปาด้วยไข่ไก่ ฯลฯ สื่อมวลชนได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกข่าวทุกเหตุการณ์และสื่อมวลชนก็ไม่แคล้วโดนลากดึงหรือถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง เลือกฝ่ายไปกับเขาด้วย
ทั้งๆ ที่โดยวิชาชีพสื่อควรเป็นอิสระ ไม่มีอคติในการเสนอข่าว ว่าไปตามเนื้อผ้าของข้อเท็จจริง การแสดงความเห็นก็ควรจะตรงไปตรงมา
สื่อไหนไม่เป็นที่ถูกใจของคนซึ่งยืนอยู่เป็นฝักฝ่าย มีชุดความคิดของตนเองและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ก็จะตำหนิ ประณามสื่อนั้นทันที
คนที่เปิดหู เปิดตารับข่าวสารจากสื่ออย่างกว้างขวาง ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ฟังวิทยุรายการข่าวหลายสถานี ไม่เว้นวิทยุชุมชน ดูโทรทัศน์ประเภทฟรีทีวีอย่างช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่องเอ็นบีที ช่องทีวีไทย ช่อง ทรู วิชั่น ดูทีวีผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี ดูรายการข่าวของเนชั่น ดูเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ เพื่อติดตามข่าวสารว่าเกิดอะไรขึ้น มีการแสดงความเห็นวิเคราะห์วิจารณ์อะไรอย่างไร เรียกว่าวันๆ หนึ่งอยู่กับสื่อมวลชนจนกระทั่งอาจจะสำลักกับข่าวสารที่มีมากมายท่วมท้น
คนที่ไม่เอนเอียงไปข้างไหนอย่างหลับหูหลับตาหรือลุ่มหลงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ย่อมจะรู้และเข้าใจตื้นลึกหนาบางของสื่อแต่ละแห่ง แต่ละสำนัก แต่ละรายการเป็นอย่างดี
เมื่อมีทีวีผ่านดาวเทียมน้องใหม่ในนาม ดีทีวี หรือ สถานีประชาธิปไตยก่อกำเนิดขึ้นมา ถือเป็นอีก “ทางเลือก” หนึ่งของผู้รับข่าวสารที่มีความเป็นฝักฝ่ายไม่ต่างไปจากเอเอสทีวี
เท่าที่สดับตรับฟังและเฝ้าดูสื่อรวมทั้งผู้คนซึ่งเปิดรับสื่อ มีข้อสังเกตดังนี้
1.มวลชนเสื้อเหลืองที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะติดเอเอสทีวีงอมแงม ชื่นชอบแกนนำ พิธีกร และผู้ดำเนินรายการ ศิลปิน ฯลฯ การพูดจาปราศรัยของคนบนเวทีชุมนุมตลอด 193 วัน ได้ซึมซับเข้าไปสู่จิตใจของมวลชน แม้แต่เด็กเล็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่จะคิด มองปัญหาเหมือนกัน ทุกคนอยากได้ “การเมืองใหม่”
คนของพันธมิตรต่างรู้สึกว่า ทีวีทุกช่อง วิทยุทุกสถานี ใช้ไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้ธุรกิจ ถูกรัฐแทรกแซง เป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอข่าวสารผิดๆ พลาดๆ เวลาวิเคราะห์วิจารณ์ก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ความ ไม่ให้ความเป็นธรรมกับพันธมิตร สู้เอเอสทีวีและหนังสือพิมพ์อีก 2-3 ฉบับไม่ได้ แต่ก็แปลกที่รายการ “เล่าข่าว” ของเอเอสทวี ผู้ดำเนินรายการได้อาศัยข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์จากหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่พันธมิตรโจมตีมาอ่านเพื่อป้อนเป็นอาหารสมองให้กับผู้ชมสถานีของตน
นอกจากนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือด เผ็ดร้อน มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม
2.มวลชนเสื้อแดงที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะชื่นชอบ รายการ “ความจริงวันนี้” ทางเอ็นบีที ดำเนินรายการโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อบุคคลทั้ง 3 ขึ้นเวทีปราศรัยเวลาไปจัดรายการ “ความจริงวันนี้ สัญจร” ยังสถานที่ต่างๆ ล่าสุดจัดที่ท้องสนามหลวงและเดินขบวนมาปิดล้อมรัฐสภาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนเสื้อแดง
เมื่อ “ความจริงวันนี้สัญจร” ถูกถอดออกจากเอ็นบีทีหลังจากออกอากาศได้ราว 3 เดือน ทำให้ช่องทางการสื่อสารของ นปช.หายไป เป็นธรรมดาที่คนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจะรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจที่คนเสื้อแดงถูกกลั่นแกล้ง กระนั้นก็ยังพอมีวิทยุชุมชนบางแห่งและเว็บไซต์ที่พอจะตอบสนองด้านข่าวสารและเป็นที่ระบายความรู้สึกเมื่อได้ฟัง-ได้อ่านเรื่องราวที่สอดรับกับแนวความคิดของคนเสื้อแดงได้บ้าง แต่ก็เทียบกันไม่ได้กับคนเสื้อเหลืองที่มีเอเอสทีวีดูกันอย่างเต็มอิ่ม
การก่อตั้ง ดีทีวีของ นปช.ที่แม้จะเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม แต่การดำเนินรายการจะสมบูรณ์แบบในวันที่ 1 มีนาคม การที่ชาวบ้านจะเปิดดูได้นั้นต้องมีจานดาวเทียมและจูนสัญญาณซึ่งต้องอาศัยช่างมาติดตั้งหรือปรับสัญญาณให้สามารถรับคลื่นได้ นี่คือเงื่อนไขที่ดีทีวีอาจมีคนดูไม่มาก ถ้าหากผู้บริหารดีทีวี ซึ่งมีนาย อดิศร เพียงเกษ เป็นประธานบริษัทดี สเตชั่น จำกัด ไม่แก้ปัญหานี้ให้ตก
3.สื่อฟรีทีวีโดยทั่วไป มักจะเซ็นเซอร์ตัวเองในการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของ นปช.และคนเสื้อแดง นั่นคือ เสนออย่างเสียไม่ได้ ด้วยการให้ดูผ่านๆ เพียงเล็กน้อย โดยไม่ปล่อยเสียงแต่จะใช้การพูดสรุปสั้นๆ โดยผู้อ่านข่าวในส่วนของการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกิจจะลักษณะของคนเหล่านี้แทบจะพูดได้ว่าไม่มีให้ดูทางฟรีทีวี ประหนึ่งว่าปรากฏการณ์หรือเรื่องราวประเด็นนั้นๆ ไม่มีคุณค่าข่าวมากพอตามหลักของวารสารศาสตร์
มิไยต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรและเอเอสทีวี ซึ่งฟรีทีวีต่างไม่มีใครอยากไปแตะต้อง ทั้งๆ ที่ควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เหมือนกับกรณีอื่นๆ เพราะโอกาสจะถูกตอบโต้ (ด่า) กลับมามีอยู่สูง
สื่อมวลชนที่เป็นสื่อแท้ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงไหนต่างตกอยู่ในสภาพวางตัวลำบาก ถึงจะประคับประคองตัวเองในการทำหน้าที่อย่างระมัดระวังเพียงไร ก็ไม่วายจะโดนกลุ่มคนต่างสีเสื้อซึ่งมีแนวคิดและเป้าหมายทางการเมืองของฝ่ายตนเองกล่าวหาและด่าทอโดยไม่ฟังเหตุผล เพราะต่างคิดและเชื่อว่าฝ่ายตนเท่านั้นถูกต้องที่สุด ฝ่ายอื่นผิดและเลวหมด
สภาพการณ์ของบ้านเมืองปัจจุบันที่เกิดวิกฤตความขัดแย้ง แตกแยก จนพูดกันไม่รู้เรื่องและไม่พูดจากัน สังคมไร้ระเบียบ สื่อยังคงต้องทำหน้าที่รายงานข่าวสารตามข้อเท็จจริงต่อไป หากสื่อจะแตะต้องกันตามหลักของการตรวจสอบกันเองก็เป็นความจำเป็น แต่พึงกระทำอย่างวิญญูชนซึ่งใช้เหตุและผล มิใช่นักเลง อันธพาล ด้านหนึ่งเพื่อแสดงถึงมาตรฐานของวิชาชีพซึ่งรับผิดชอบต่อจริยธรรม อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเคารพต่อประชาชนผู้รับข่าวสารที่มีวิญญาณในการแยกแยะผิดถูก
แม้พันธมิตรจะเรียกร้อง “การเมืองใหม่” ไม่เอานักการเมืองโกง ผ่านเอเอสทีวี ดีทีวีจะเรียกหา “ประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหาร” ผ่านดีทีวี ส่วนสื่ออื่นๆ ทั้งวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ ก็ทำหน้าที่กันไปซึ่งอาจถูกมองว่า สับสน อลเวงไม่ต่างไปจากสภาพความยุ่งเหยิง ปั่นป่วนของบ้านเมือง
การที่รัฐบาลจะเข้ามาจัดระเบียบสื่อให้เข้ารูปเข้ารอยตามนโยบายของรัฐบาล หรือพูดให้เท่ว่า “ปฏิรูปสื่อ” รวมถึงอยากเห็นสื่อแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาวิกฤตความขัดแย้ง รัฐบาลจะต้องไปดูต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกว่าอยู่ตรงไหน พร้อมกันนั้นต้องให้ความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” อย่างเป็นรูปธรรมและยอมรับกันได้ทุกฝ่าย อย่าเลือกปฏิบัติ เช่น เอเอสทีวีเปิดได้แต่ดีทีวีจะหาทางปิดกั้น
หากยังผ่านด่านนี้ไปไม่ได้ก็ไม่มีทางที่บ้านเมืองจะสงบสุข เห็นทีจะต้องอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ดูและฟังข่าวทางทีวีและวิทยุไปเรื่อยๆ และรับสภาพกับการที่สื่อจะถูกใช้เป็น “อาวุธ” ในการทำสงครามข่าวสารกันต่อไป
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11275 หน้า 6