ใครว่าโลกกลม สื่อมวลชนไทยเอ๋ย (บทความที่ผู้ล้ำยุคควรอ่าน)

โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง,รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย   “ความเชื่อมโยงความรู้ของมนุษยชาติ
จะก่อให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่”

ปราชญ์นิรนาม

Thomas L. Friedman ในปี 2005 ได้แสดงทัศนคติของเขาว่า “โลกใบนี้แบน” จากหนังสือที่ขายดีที่สุดของเขาเล่มหนึ่งคือ The World is Flat: A Brief History of the Twenty-First Century ฉบับแปลภาษาไทยว่า “ใครว่าโลกกลม” ที่ผู้เขียนคิดว่าคนไทยควรอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งเพื่อที่จะได้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้

อันที่จริงคนที่ชื่อ Friedman มีที่โด่งดังอยู่หลายคน เช่น Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของChicago Schoolเจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์เมื่อหลายปีก่อน รวมถึงบุตรชายของเขา David Friedmanที่จบการศึกษาด้านฟิสิกส์แต่มาสอนกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ หรือ Benjamin Friedman ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard แต่นาย Thomas L. Friedman คนนี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์

แนวคิดว่าโลกใบนี้แบนของนาย Thomas L. Friedman มีที่มาจากการที่โลกของมนุษยชาติในปัจจุบันมีข้อจำกัด หรือข้อกีดขวางลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากเกิดการรวมกันมากขึ้น ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า สิ่งกีดขวางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แม่น้ำ ที่ปิดกั้นวิสัยทัศน์ หรือโอกาสต่างๆ ของมนุษย์จะลดน้อยลงไป อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี ทำให้การสื่อสารถึงกันของคนบนโลกนี้ทำได้สะดวกมากขึ้น

การสื่อสารที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันในราคาถูกของคนในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดการไหลเข้า- ออกของปัจจัยการผลิต เกิดการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น outsourcing การนำเอางานในองค์กรไปให้ข้างนอกทำเนื่องจากถูกกว่า offshoringการไปตั้งหน่วยผลิตนอกพรมแดนตนเองเพื่อลดต้นทุน insourcingการที่รับทำงานที่ผ่านมือตนเองบ่อยๆ เช่น แทนที่จะเป็นผู้ที่รับส่งเครื่อง/อุปกรณ์ไปซ่อมก็รับเป็นผู้ซ่อมมันเองเสียเลยหากมีปริมาณคุ้มที่จะทำ (economy of scale) หรือแม้แต่การ opensourcing ที่เปิดให้มีการพัฒนาความรู้ต่อยอดไปได้เรื่อยๆโดยไม่ปิดกั้น เช่น โปรแกรม Linux ผลที่เกิดขึ้นก็คือ พรมแดนตามกฎหมาย หรือในเชิง ภูมิศาสตร์ เริ่มที่จะหมดความหมายไป

การรับจ้างตรวจแบบภาษี call center โดยคนอินเดียจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการ outsourcing และ/หรือ offshoring
ความหมายอีกนัยหนึ่งที่กินความลึกไปกว่านั้นก็คือ การผูกขาดสามารถทำได้น้อยลงในยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคโลกแบบของนาย Thomas L. Friedman เพราะอำนาจในการผูกขาดที่มีที่มาจากการสร้างอุปสรรคจากภาคเอกชนมิให้มีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดได้มีน้อยลง เพราะโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้สะดวก รวดเร็ว และด้วยต้นทุนที่ถูกลง อุปสรรคที่ขวางกั้นไม่ว่าจะโดย ขนาด (size) ของตลาดหรือทุน การควบคุมแหล่งวัตถุดิบ หรือการควบคุมเทคโนโลยี ทำได้น้อยลง คงเหลือแต่เพียงอุปสรรคจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวที่จะสร้างอำนาจผูกขาดให้เกิดขึ้นมาได้ เช่น การให้สัมปทาน หรือการออกใบอนุญาต

การลดภาษีระหว่างรัฐ การเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยเสรี หรือการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่แตกต่างกันให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงเป็นการทำให้โลกใบนี้ “แบน” มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุปสรรคต่างๆ ที่ขวางกั้น วิสัยทัศน์ โอกาสของคนเริ่มที่จะหมดไปซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้โลกใบนี้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้จากการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างกัน

หากโจทย์ในปัจจุบันของประเทศไทยคือ “การเปลี่ยนแปลง” ในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมืองและสื่อสารมวลชนที่ล้าหลังเนื่องมาจากย่ำอยู่กับที่เพราะมีการผูกขาดมานาน การสื่อสารกับมวลชน จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการแก้ไข “ปัญหาธุรกิจการเมือง” เพราะข้อมูลที่ได้รับจะมีผลต่อการตัดสินใจของคน

ปัญหาของการสื่อสารกับมวลชนในปัจจุบันก็คือ “การผูกขาด” เช่นเดียวกับในภาคเศรษฐกิจอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสรรคที่มาจากภาครัฐ ไม่ว่าจะโดยการให้ใบอนุญาต หรือการให้สัมปทาน ทำให้การสื่อสารบกพร่องเพราะสื่อให้เห็นว่า เกิดอะไร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร แต่ไม่สามารถสื่อต่อไปได้อีกถึงรากเหง้าของปัญหาว่า “ทำไม” จึงเกิด

ความกว้างของสื่อที่สามารถเข้าถึงมวลชนจึงแปรผกผันกับสาระที่ต้องการสื่อกับมวลอยู่เสมอมาโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต ที่มีลำดับความกว้างของการเข้าถึงลดหลั่นกันลงมาตามลำดับจึงแปรผกผันกับสาระข้อเท็จจริงที่มวลชนต้องการรับรู้ กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ หากอยากจะรู้ว่าเหตุการณ์นี้ทำไมจึงเกิด คำตอบมักจะอยู่ในสื่อที่ไม่แพร่หลายมากอย่าง อินเทอร์เน็ต ในขณะที่ สื่อมวลชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดอย่างฟรีทีวีกลับแทบไม่มีสาระอันเป็นการตอบคำถามที่อยากรู้แต่อย่างใดเลย

เหตุผลก็คือโทรทัศน์ วิทยุ สามรถผูกขาดได้ด้วยอำนาจรัฐจากใบอนุญาต หรือ การให้สัมปทานในการใช้คลื่นความถี่ ในขณะที่ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตอำนาจรัฐในการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่คลาดข่าวสารทำได้ยากกว่า
ข้อถกเถียงในเรื่องความเสียหายจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงการผูกขาดทางความคิดของการสื่อสารกับมวลชนของสื่อไทยบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นหรือไม่ หรือ ในกรณีล่าสุดของรัฐมนตรีกษิต ภิรมย์ที่เห็นได้ชัดว่าการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ของท่านมิใช่“ตราบาป” ที่สื่อไทยบางส่วนกำลัง “ตีตรา” ให้ท่าน หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติของอดีตข้าราชการคนหนึ่งมากกว่า

ในสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดไล่ลงมาตั้งแต่ โทรทัศน์ วิทยุ และแม้แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับ ก็ไม่ปรากฏถึงสาระที่สำคัญว่า “ทำไม” จึงเกิด และขาดวิจารณญาณที่จะประเมินว่าความเสียหายที่เกิดนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เช่นเดียวกับการใช้น้ำมันก๊าซโซฮอลล์กับความเสียหายของเครื่องยนต์ที่ใช้ ถ้าเครื่องฯ จะเสียเป็นเพราะใช้การใช้น้ำมันก๊าซโซฮอลล์จริงหรือไม่
ทำไมการปิดทำเนียบฯ จึงมีผลกระทบน้อยกว่าการปิดสนามบินทั้งๆ ที่เป็นศูนย์กลางการบริหารและหน้าตาของประเทศถ้าตำรวจสหรัฐฯ ยอมให้ผู้ประท้วงการเข้าสู่สงครามเวียดนาม อิรัก หรืออัฟกานิสถาน ยึดทำเนียบขาวได้ ประธานาธิบดีจะยอมตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วงหรือไม่ เรื่องนี้จะเป็นข่าวเล็กน้อยและมองข้ามได้เหมือนอย่างที่สื่อไทยได้กระทำหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลจริงหรือ
การล่อลวงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากสนามบินไปปล้น ฆ่า จะยิ่งเป็นข่าวใหญ่หากสถานทูตหรือสื่อต่างชาติมาทำข่าวกดดันทางการไทย สื่อไทยมักจะกระวีกระวาดรีบเร่งให้มีการดำเนินการจับกุมและระงับเหตุโดยเร็ว แต่ในทางตรงกันข้ามหากคนไทยกลุ่มหนึ่งอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเรียกร้องบ้างว่าถูกทำร้ายด้วยอาวุธสงครามจนมีคนตายหรือบาดเจ็บนับสิบติดต่อกันทุกวันก่อนมีการเดินทางมาเรียกร้องกดดันที่สนามบิน ทำไมสื่อไทยส่วนใหญ่จึงสื่อสารกับมวลชนไปในอีกลักษณะหนึ่งราวกับว่าเรื่องที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเรียกร้อง และผลกระทบจากความรุนแรงที่ได้รับไม่มีความสำคัญอันใดเลย

สื่อไทยเอ๋ย สูเจ้ารู้หรือไม่ว่า การนิ่งดูดายต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้า ก็เป็นบาปอย่างหนึ่งเช่นกัน มิหนำซ้ำยังเป็นความผิดพลาดทางจริยธรรมของการทำหน้าที่สื่อโดยตรง สูเจ้าละอายใจและสำนึกผิดบ้างไหมในบาปที่ได้ทำลงไป?

ในเชิงมาตรฐานระหว่างประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้วัยรุ่นที่ถูกตำรวจกรีซยิงตายเพียง 1 คนและก่อให้เกิดการจลาจลอย่างรุนแรงติดตามมามากกว่า 2 สัปดาห์ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์กวาดล้างนักศึกษาจีนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทั้งสองเหตุการณ์ต่างก็มาเรียกร้องกดดันต่อรัฐเหมือนกัน แต่จะให้กดดันเรียกร้องที่บ้านใครบ้านมันจะสำเร็จหรือ ทำไมรัฐบาลและสื่อต่างชาติจึงมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันกับกรณีปิดสนามบินไทย และสื่อไทยทำไมไปอ้างอิงมาตรฐานที่เป็น bad practice ของรัฐบาลและสื่อต่างประเทศ ไม่รู้ว่าจุดยืนของสื่อไทยเหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นมาตรฐานกันแน่ ช่างเป็นการกระทำที่น่าละอายและไร้ซึ่งจริยธรรมเสียเหลือเกิน?
นอกจากสื่อไทยบางส่วนที่ถูกผูกขาดแล้ว การผูกขาดทางความคิดของการสื่อสารกับมวลชนของสื่อไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อที่รัฐสร้างอำนาจผูกขาดไม่ได้ในปัจจุบันอย่างสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ จึงเป็นคำตอบเพียงประการเดียวที่อธิบายปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ได้ สื่อเหล่านี้ไม่รู้หรือว่าตนเองกำลังตกยุค เพราะมวลชนจำนวนไม่น้อยเริ่ม “ฉลาดและก้าวหน้า” กว่าสื่อจอมปลอมแล้ว
ผู้เขียนอยากจะบอกว่า ในยุคของโลกแบน มันหมดสมัยแล้วที่อำนาจในการตีความจะถูกผูกขาดโดยสื่อสารมวลชนบางส่วนที่จอมปลอม ใจแคบ และมีอคติ เหมือนอย่างที่สื่อเส็งเคร็งเหล่านี้ได้กระทำกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 ที่ผ่านมา

ใครว่าโลกใบนี้กลม? โลกใบนี้แบนแล้วในสายตาของมวลชนที่รู้ตื่นและรู้ทัน ความจอมปลอมของสื่อไทยบางส่วนที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเติบโตทางปัญญาของสังคมไทย

หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด 

ที่มา ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 25 ธันวาคม 2551

 

แท็ก คำค้นหา