สานเสวนาเพื่อสันติธรรม-ไม่ใช่ซูเอี๋ย

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com

 

เหตการณ์ปาระเบิดบ้านคนสำคัญอย่างประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสะพานมัฆวานฯ ฐานที่มั่นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มบุคคลที่ต้องการให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง โดยมีเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง

แม้ถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจบอกได้ว่า เป็นฝีมือของกลุ่มใด แต่ตราบใดที่ฝ่ายต่างๆ ซึ่งเผชิญหน้ากันแสดงท่าทีพร้อมจะก่อความรุนแรงแล้ว ก็จะทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว (ที่ปาระเบิด) ฉวยโอกาสสร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้ายสีว่าเป็นฝีมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เผชิญหน้ากันอยู่ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เปราะบางยิ่งขึ้น

ด้วยความห่วงใยว่า ความรุนแรงจะก่อความเสียหายแก่ชีวิตเลือดเนื้อของคผู้บริสุทธิ์ “เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม” จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งสานเสวนากัน เพื่อยุติความรุนแรงและแสวงหาสันติธรรม โดยจะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมและภาคส่วนเข้าร่วมในรูปแบบต่างๆ ตระหนักว่า สันติธรรมเท่านั้นที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชนออกจากวิกฤตใหญ่หลวงที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

หลักการและข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯในเบื้องต้นคือ

1. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ยุติความรุนแรงโดยการหลีกเลี่ยงการปะทะกันทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กระทำหน้าที่ให้เต็มกำลังในการป้องกันมิให้มีการปะทะกัน ทั้งนี้ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง หากเกิดความรุนแรงขึ้น เราถือว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องรับผิดชอบต่อสังคมทั้งทางศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย

2. จะไม่ประณามฝ่ายใดทั้งสิ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ประณามซึ่งกันและกันในการสานเสวนา แต่มุ่งไปที่อนาคตของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

3. จะร่วมกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสันติธรรมและสันติสุขจะกลับคืนสู่สังคมไทย

บทบาทของ “เครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม” คือพยายามประสานกับคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมพูดคุยกันอย่างสมัครใจ อย่างเปิดเผยและโปร่งใสโดยทางเครือข่ายพร้อมเป็นเวทีหรือตัวกลาง ภายใต้กติกาบางอย่าง เช่น ต้องไม่มีการประณามหรือด่าทอกันบนเวทีนี้

แต่ทุกฝ่ายสามารถเสนอทางออกหรือความต้องการที่เป็นไปได้จนในที่สุดเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในลักษณะของฉันทามติ แม้จักต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร เพราะสามารถสานเสวนาไปได้เรื่อยๆ หลายครั้งหลายหน

แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การสานเสวนาบรรลุผลคือ ต้องไม่เกิดความรุนแรงทุกรูปแบบ ใช้กำลังปะทะกัน และละเมิดหลักนิติธรรม

มีคนเข้าใจหรือพยายามทำให้เข้าใจว่า “การสานเสวนา” เป็นการ “สมยอม” หรือ “ซูเอี๋ย” กัน

การเรียกร้องให้ “สานเสวนา” กันนั้นมิได้ขอให้แต่ละฝ่ายเลิกทะเลาะ เลิกขัดแย้งกันหรือหันมาจูบปากกันอย่างดูดดื่ม

ความขัดแย้ง ความแตกต่างยังคงมีได้ เพียงแต่ว่าอยากให้ทะเลาะกันบนกติกาที่ทุกฝ่ายอมรับและเป็นไปอย่างสันติธรรมเท่านั้น

ถ้าทุกฝ่ายตกลงกติกากันแล้ว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดเบี้ยวขึ้นมา ฝ่ายนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกติกาดังกล่าวเอง

การ “ซูเอี๋ย” หรือไม่ เป็นเรื่องที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันว่า ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางและรูปแบบในการแก้ปัญหาทางการเมืองรวมถึงปัญหาอื่นๆ จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับและนำเสนอนั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและกฎหมาย

ขณะเดียวกันคดีความต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายก่อขึ้นและอยู่ระหว่างการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมหรือศาล ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการที่ชอบธรรม คงไม่สามารถใช้อำนาจบาตรใหญ่ การวิ่งเต้นไปเลิกล้มได้

อยากให้ทุกฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ใน ซึ่งมีความเชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ควรใช้สติปัญญาในการพิจารณาปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

อย่าให้คนบางคนที่ทำตัวเป็น “ศาสดา” และ “ไอ้แอบ” มาบงการให้ทำโน่นทำนี่เหมือนหุ่นเชิด

เพราะมิเช่นนั้น นอกจากจะไม่เกิดความสงบสุขแล้ว ท่านอาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายชาติบ้านเมืองโดยไม่รู้ตัวด้วย

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11193 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา