คุกคามสื่อ-สื่อคุกคาม

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

ทุกครั้งที่เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ถูกแทรกแซง ลิดรอน เช่น การออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพ การถอดรายการวิทยุและโทรทัศน์บางรายการ การกล่าวหาสื่ออย่างไม่เป็นธรรม การปฏิบัติที่เหยียดหยามเกียรติภูมิของสื่อ องค์กรวิชาชีพของสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย จะออกมาเคลื่อนไหว นัดประชุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อระดมความเห็น หาแนวทางการต่อสู้และตามมาด้วยการออกแถลงการณ์คัดค้าน ประณาม

ถ้าการปิดกั้นเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ กระทบต่อวิชาชีพอย่างรุนแรง องค์กรวิชาชีพสื่อจะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 กว่าโซ่ตรวนนี้จะถูกปลดออกไปก็ใช้เวลานานกว่า 13 ปี นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ประกาศใช้ถึงปลายปี 2533 ที่รัฐสภาออกกฎหมายให้ยกเลิก ปร.42

การคุกคามเสรีภาพของสื่อ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อยอมไม่ได้ ต้องแสดงปฏิกิริยาคัดค้าน ต่อต้าน มักเกิดจากน้ำมือของรัฐบาลที่ใช้อำนาจเผด็จการ รวมทั้งการถูก นักเลง อันธพาล อิทธิพลมืดเข้าเข่นฆ่าผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะในต่างจังหวัด การขว้างระเบิดเข้าใส่สำนักพิมพ์ หรือไม่ก็การถูกกลุ่มคนเข้าปิดล้อมสำนักงาน เป็นต้น

ดูเหมือน ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า คนทำสื่อจะคุกคามเสรีภาพคนในวิชาชีพเดียวกันและคุกคามประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็นจากการกระทำของ (คนทำ) สื่ออย่างอุกอาจมากมายและรุนแรงเหมือนในปัจจุบัน

“คุกคามสื่อ คือคุกคามประชาชน” วลีที่คนในวิชาชีพสื่อทั้งนักข่าว บรรณาธิการ เจ้าของธุรกิจจำนวนมากออกมาผนึกกำลังกันโดยชูเป็นคำขวัญเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 อาจจะเชยไปแล้วกับวิกฤตการณ์ของความขัดแย้ง แบ่งข้าง และถูกบังคับให้เลือกฝ่ายเฉกเช่นเวลานี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “สื่อคุกคามสื่อและสื่อคุกคามประชาชน”

ว่าไปแล้ว สื่อทุกแขนง ไม่ว่า หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ทั้งโทรทัศน์ทั่วไป และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม มันคือ เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร เป็นสื่อกลางระหว่างคนทำสื่อกับคนรับสื่อ สิ่งสำคัญอยู่ตรงเนื้อหาที่เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน โดยเบื้องหลังของเนื้อหาก็คือ คนทำสื่อ

คนทำสื่อและคนที่ใช้สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อไปบรรลุเป้าหมายการต่อสู้ทางการเมืองประกาศด้วยเสียงอันดังและท่าทีแข็งกร้าวว่า สื่อต้องเลือกข้าง โดยอยู่ข้างความถูกต้อง จากนั้นก็บอกว่า สื่อของตนและพวกตนเท่านั้นที่ถูกต้อง สื่ออื่นๆ คนอื่นที่เห็นไม่ตรงกับตนเอง เป็นสื่อที่เลวทราม ต่ำช้า ใช้ไม่ได้ ไม่ต้องไปซื้อมาอ่าน ไม่ต้องไปเปิดดู ไม่ต้องฟัง ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุคนไหนพูดอะไรออกไปไม่เป็นที่สบอารมณ์จะโดนใส่ร้าย เสียดสี ทันที ไม่เว้นเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเลยแม้แต่น้อย

นักจัดรายการวิทยุบางคนโดนอาฆาตจาก “นักรบหน้าไมค์” ทางโทรทัศน์ถึงขนาดจะเอาให้ออกจากวงการสื่อมวลชนไปเลยก็มี

ผู้ที่ติดตามสื่อของบรรดานักรบหน้าไมค์ทั้งหลายคงไม่ตะขิดตะขวงใจกับความสับสนปนเประหว่างข่าวกับบทความแสดงความคิดเห็น แยกไม่ออกว่า อะไรเป็นข่าวที่สื่อต้องนำมารายอย่างครบถ้วน ถูกต้องและรอบด้านจากทุกฝ่ายที่กำลังโลดแล่น แสดงบทบาทตามลีลาของแต่ละคนและแต่ละกลุ่มซึ่งไม่ต่างไปจากตัวละคร พวกเขาปรารถนาให้การนำเสนอข่าวจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ การแสดงความเห็นก็เช่นกันต้องไปในทิศทางของการต่อสู้ ใครหรือสื่อไหนวิเคราะห์วิจารณ์แล้วรู้สึกว่า ไม่เข้าข้างตัวเองจะถูกมองว่าเป็น “ศัตรู” หรือ “ฝ่ายตรงข้าม” ที่จะต้องตอบโต้และบอยคอตด้วยมาตรการทางการตลาด

ดูอย่างนายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่แสดงความเห็นเป็นกลางๆ อยากให้ฝ่ายที่ขัดแย้งหันหน้าเข้าหากัน ไม่ต้องการเห็นคนไทยเข่นฆ่ากันเองก็ไม่พ้นการถูกด่ากราดอย่างสาดเสียเทเสีย ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชอบ “ตีกิน” ถ้าออกมาโต้แย้งเมื่อไร จะต้องโดนแฉทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทันที

มิใช่เฉพาะนายสุเมธเท่านั้น นายโคทม อารียา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังมีใครต่อใครอีกหลายคนที่ตกอยู่ในสภาพถูกคุกคามจากสื่อบางส่วน เพียงเพราะออกมาพูดไม่ตรงกับคนเหล่านี้

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่แท้จริงต้องรักและหวงแหนพร้อมที่เอาชีวิตและอิสรภาพเข้าแลกเพื่อพิทักษ์ปกป้องเสรีภาพ เพราะเสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

เสรีภาพของสื่อมีไว้เพื่อการแสวงหาข่าวสาร การนำเสนอข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การพิมพ์ การจำหน่ายหนังสือพิมพ์ การออกอากาศ คนทำสื่อจะต้องต่อสู้ไม่ยอมให้ใครมาลิดรอน ปิดกั้น คุกคามทำร้าย มากัก มาเก็บ มาขัดขวางเพื่อตัดตอนมิให้หนังสือพิมพ์ส่งไปถึงมือผู้อ่าน ส่วนใครหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด ข่าวใด คอลัมน์ใดเขียนสิ่งไม่ถูกต้องก็ว่ากันไปตามแต่ละกรณี การตรวจสอบจากคนทำสื่อกระทำได้แต่ต้องกระทำโดยสุจริตและอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของการควบคุมกันเองภายใต้ธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สิ่งที่ควบคู่ไปกับเสรีภาพของสื่อก็คือ การเคารพในสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

เมื่อสื่อคุกคามสื่อด้วยกันเองและคุกคามประชาชน จึงเกิดคำถามว่า เสรีภาพกำลังถูกใช้ไปอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกคุกคามจากสื่อจะหาความรับผิดชอบจากสื่อได้จากไหน

ในขณะเดียวกันผลกระทบที่สะท้อนกลับมายังคนทำสื่อจากทุกแขนงและทุกสำนักซึ่งคงต้องการคำตอบว่า พฤติการณ์เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่กระทำได้ สมควรปล่อยให้กระทำต่อไป หรือองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าเป็นปัญหาที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาประชุมปรึกษาหารือกันโดยด่วน ด้วยตระหนักว่า ยิ่งปล่อยไปยิ่งทำลายความสมัครสมานสามัคคีในวงวิชาชีพสื่อ สร้างความหวาดกลัวให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่าง เพราะมีสิทธิโดนโจมตีจนเสียคนเอาง่ายๆ

ในยามที่สังคมมีการแบ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มี “มือตบ” เป็นอาวุธ กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ใช้ “ตีนตบ” เป็นอาวุธ โอกาสที่คน 2 ฝ่ายจะประจัญบาน รบราฆ่าฟันให้ดับดิ้น องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลายจะทำอย่างไรถึงจะป้องกันมิให้คนทำสื่อบางส่วนใช้เสรีภาพนอกลู่ไปคุกคามสื่อด้วยกันและคุกคามประชาชน ดังที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11191 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา