คอลัมน์ วิเทศวิถี
โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ worrarat@matichon.co.th
ควันจางกันไปอีกรอบหนึ่ง หลังฝุ่นสงครามตลบฟุ้งขึ้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาอีกคราเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามคืออะไรเป็นเหตุจูงใจเบื้องหลังท่าทีแข็งกร้าว แล้วเปลี่ยนมาเป็นประนีประนอมมีเหตุมีผลแบบวันเว้นวันจนทำเอางงงันกันไปทั่วของผู้นำหลักของกัมพูชา ไล่เรียงไปตั้งแต่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ที่พูดไล่หลังการเยือนของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนต้นสัปดาห์ว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นดินแดนแห่งความตาย แถมขีดเส้นตายกำหนดเวลา แต่พอมาถึงวันศุกร์ก็บอกปฏิเสธการไกล่เกลี่ยของประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่เสนอตัวช่วย โดยยืนยันว่าสองประเทศจะไม่ไปสู่สงคราม และไม่นำเรื่องไปสู่เวทีนานาชาติ เพราะกัมพูชาและไทยยังคงสามารถแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคีได้
ไม่ต่างจากนายฮอ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ทั้งออกมาบริภาษอาเซียนว่าเข้าข้างไทยเพราะเป็นประธานอาเซียนจึงต้องมีคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือการประกาศว่ามีทหารไทย 10 นาย ที่มอบตัวกับทางการกัมพูชา แต่สุดท้ายพอทางไทยยืนยันว่าทหารทั้งหมดไม่มีใครถูกจับกุมตัว และผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่งในนายทหารในภาพที่ถูกระบุว่าเป็นทหารไทยที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกัมพูชาซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวอ้างอย่างแข็งขัน ฝ่ายกัมพูชาก็ดูจะเงียบเสียงไปคล้ายกับเรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถมนายฮงยังโทรศัพท์มาพูดคุยกับนายสมพงษ์เป็นอย่างดีชนิดผิดกันหน้ามือเป็นหลังมือก่อนจะมีการปะทะกันตามแนวชายแดนเสียด้วยซ้ำ
มีทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) หลายทฤษฎีที่ถูกนำมาอธิบายเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งทั้งหมดนั้นต่างขึ้นกับว่าเรามองจากมุมใด สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเที่ยงตรงมากเพียงใดด้วย ถ้ามองจากมุมพันธมิตรหรือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกหลังเกิดสงครามน้ำลายคือทั้งหมดนี้เป็นแผนการที่จะเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ เป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสมเด็จฯฮุน เซน
ถ้ามองจากมุมของคนทั่วไปที่รู้สึกอยู่เป็นทุนเดิมว่า กัมพูชาไว้ใจไม่ได้ ก็มองว่ากัมพูชาเลือกที่จะกดดันไทยในตอนนี้เพราะเห็นว่าเรากำลังอ่อนแออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี ก็เช่นเดียวกันที่เราเคยเสียกรุงในอดีต ฝ่ายตรงข้ามย่อมเลือกเวลาโจมตีในช่วงที่เรากำลังอ่อนแอเช่นนี้นั่นเอง
แต่อีกหนึ่งในสมมติฐานที่มีการพูดถึงกันมากในหมู่ผู้ทำงานจริง ดูเหมือนความเข้าใจผิดของฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประเด็นที่ถูกให้น้ำหนักมากเช่นกัน คนกลุ่มนี้เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีรากฐานมาจากความไม่ไว้วางใจระหว่างกันที่มีอยู่เป็นทุนเดิม แล้วตอกย้ำด้วยหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ความรู้สึกว่าฝ่ายไทยกำลังเล่นเกมดึงเรื่องไม่ยอมไปสู่โต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการเสียทีโดยนำเรื่องข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาเป็นข้ออ้างของฝ่ายกัมพูชา ทั้งที่มีการพูดเรื่องข้อจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องนำเรื่องเข้าสู่สภากันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม นับจนขณะนี้ที่ล่วงเข้าเดือนตุลาคมก็ยังไม่มีความคืบหน้า
เรื่องนี้ทางฝ่ายไทยยืนยันว่ามีความพยายามจะดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนมาตลอด แต่เนื่องจากติดปัญหาการเมืองและสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่เช่นนั้นกรอบการเจรจาที่ควรจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ตั้งแต่หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศไทย-กัมพูชาหารือกันที่หัวหินเมื่อเดือนสิงหาคม ก็เลื่อนออกไปมีการกำหนดว่าจะนำเข้าสภาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกรอบหนึ่ง จนล่าสุดกำหนดว่าสภาจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าเป็นไปตามกรอบเวลาที่ตั้งใจไว้นี้หรือจะเจอโรคเลื่อนกันอีกหนหนึ่ง
ความไม่ไว้วางในเป็นพื้นฐานบวกกับการเมืองภายในกัมพูชาเองที่หลายฝักฝ่ายต่างพยายามแย่งกันเพ็ดทูลนายใหญ่ หรือสมเด็จฯฮุน เซน เพื่อสร้างเครดิตให้กับตัวเองในสายตาผู้นำรัฐบาล อาจเป็นเหตุให้เมื่อชุดเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยกว่า 80 นาย ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เก็บกู้ทุ่นระเบิดและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติภารกิจในบริเวณภูมะเขือ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกว่าลานอินทรี ที่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในบริเวณพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศยังอ้างสิทธิทับซ้อนกัน บรรดาสายข่าวในพื้นที่ต่างต้องรีบแจ้งไปยังหน่วยเหนือเพราะอาจเข้าใจไปว่าเป็นการเสริมกำลังของทหารไทยก่อนจะตรวจสอบให้ชัดเจนว่าทหารไทยชุดดังกล่าวเข้ามาปฏิบัติภารกิจซึ่งถือเป็นงานด้านมนุษยธรรม จนเมื่อความจริงปรากฏว่าทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด ท่าทีของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจึงเปลี่ยนแปลงแบบหักมุมในที่สุด
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าคราวนี้ฝ่ายไทยเลือกจะใช้ไม้แข็งตอบโต้กัมพูชาเช่นกันซึ่งเป็นการตอบโต้ที่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องความอ่อนแอระส่ำระสายในฝ่ายการเมืองขณะนี้ ตั้งแต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ประกาศแผนพร้อมรบ กระทรวงการต่างประเทศที่ประกาศเดินหน้าชนไม่หวั่นเข้าทางดึงเรื่องไปสู่เวทีระหว่างประเทศของกัมพูชา พร้อมเปิดแผนที่ที่มีการจ้างทีมที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ และการตั้งทีมไว้พร้อมแล้วหากกัมพูชาคิดจะนำเรื่องเข้าสู่ศาลโลก และที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงเปิดแนวรบใหม่ด้วยหลักฐานล่าสุดที่เพิ่งพบว่ามีการวางทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งขัดต่ออนุสัญญาออตตาวาที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคีอยู่ ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้กัมพูชาตระหนักว่า แม้เรากำลังอ่อนแอแต่ก็มิใช่หมูในอวยของใคร
หากจะให้มองภาพปรากฏการณ์ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างกันแล้วประเมินจุดอ่อนจุดแข็ง ไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ข่าวในสื่อมวลชนระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวรบที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแนวรบในพื้นที่จริง เพราะการให้ภาพที่ชัดเจนจากฝ่ายไทยจะช่วยให้นานาชาติที่กำลังเฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าอะไรเป็นพื้นฐานและแรงจูงใจซึ่งนำไปสู่เหตุปะทะกันที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ รวมถึงฝ่ายใดกำลังเล่นเกมสร้างภาพกันอยู่ ความเข้าใจดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเกมที่กำลังเล่นอยู่นี้มิได้มีแค่สองประเทศที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ฝ่ายทหารเองก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญของงานดังกล่าวด้วย ในโลกของเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่ภาพซึ่งปรากฏอยู่บนฉากหน้า สำคัญและทรงอิทธิพลกว่าความเป็นจริงที่ถูกจับไปอยู่ในฉากหลังหลายเท่านัก
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11181 หน้า 32