คอลัมน์ จับการตลาด
ประชาชาติธุรกิจ
แม้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีแซตเทลไลต์ทีวี รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์หลายรายจะยังพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า หลังจากกฎหมายประกอบการวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ได้เปิดให้ธุรกิจเคเบิลทีวีมีโฆษณาได้นั้นถือเป็นโอกาสและช่องว่างในการสร้างรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย
แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมถึง ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ต่างก็ หันมาลงทุนกับการผลิตคอนเทนต์เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ “ทรูวิชั่นส์” พี่ใหญ่แห่งวงการเคเบิลทีวีมีข่าวเล็ดลอดออกมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายนี้เตรียมผลิตคอนเทนต์ของตัวเองออกมาไม่ต่ำกว่า 20 ช่องรายการ
ว่ากันว่า นอกจากจะเป็นการปูพรมตลาดแมสแล้วยังเป็นการลงทุนเพื่อนำช่องรายการที่เป็นโลคอลคอนเทนต์เข้ามาจัดแพ็กเกจการขายเพื่อรับกับตลาดแมสที่กำลังขยายตัวอย่างมากอีกด้วย
โดยจะเห็นชัดเจนว่า หลังจากที่ “ทรูวิชั่นส์” ได้ทำแพ็กเกจ “ทรู โนเลต” และ “ทรูไลฟ์ พรีวิว” จำนวนสมาชิกของ ทรูวิชั่นส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 6.5 แสนครัวเรือนเมื่อ 2 ปีก่อนเพิ่มเป็น 1.2 ล้านครัวเรือนเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
แถมยังคาดการณ์ด้วยว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านครัวเรือนได้ภายในสิ้นปีนี้
เมื่อฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นนั่นหมายความว่ารายได้ของ “ทรูวิชั่นส์” ก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
ขณะที่ในอีกมิติหนึ่ง “ทรูวิชั่นส์” ก็ยังได้พยายามเจรจากับ อสมท เพื่อขอให้มีโฆษณาในช่องรายการที่ผลิตขึ้นเอง (local content) ได้ในสัดส่วน 6 นาที/ชั่วโมงตาม พ.ร.บ.ประกอบการวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว
พร้อมเสนอเงื่อนไขเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อสมท อีก 6.5% ของรายได้จากค่าโฆษณา จากปัจจัยที่จ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท อยู่แล้วปีละ 6.5% ของรายได้
แม้ว่าผลการเจรจา อสมท จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทาง “ทรูวิชั่นส์” ก็ได้เริ่มพูดคุยกับเจ้าของสินค้าและมีเดีย เอเยนซี่บ้างแล้วว่า ด้วยจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ขณะนี้ หากสามารถขายโฆษณาได้ควรจะตั้งราคาขายในอัตราเท่าไหร่ อย่างไร แล้วมีเดียเอเยนซี่สนใจแค่ไหน
เรียกว่า เตรียมตั้งรับสำหรับการขาย “โฆษณา” อย่างเต็มที่
“องอาจ ประภากมล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายคอมเมอร์เชียล “ทรูวิชั่นส์” บอกว่า ขณะนี้ทรูวิชั่นส์มีช่องรายการที่เป็นโลคอลคอนเทนต์แล้ว 20 ช่องรายการ ล่าสุดได้เปิดช่องใหม่ 2 ช่องรายการ คือ True Asian Series (ช่อง 22 ในระบบดิจิทัล) เป็นช่องรายการที่นำเสนอซีรีส์ยอดฮิตที่อยู่ในความทรงจำและเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมมาแล้วทั้งในเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งไทยครบทุกอารมณ์
และช่องรายการ Hay Ha (ช่อง 23 ในระบบดิจิทัล) ช่องที่นำเสนอรายการตลกขบขัน สนุกเฮฮา ลดความเครียด เพิ่มรอยยิ้ม พร้อมทั้งดึงผู้ผลิตที่มีศักยภาพ อาทิ ชวนชื่น ที่ผลิตรายการชวนชื่นโชว์ ลักษ์ 666 ที่ผลิตรายการสาระแนโชว์ เป็นต้น
โดย 2 ช่องใหม่ล่าสุดนี้ใช้งบฯลงทุนสูงไม่ต่ำกว่าช่องละ 100 ล้านบาท/ปี
“องอาจ” ย้ำว่า การลงทุนผลิตโลคอลคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการทำเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับแพ็กเกจการขาย และเพิ่มรายได้จาก “สมาชิก” เป็นหลัก เพราะมั่นใจว่าช่องโลคอลคอนเทนต์ที่มีอยู่จะช่วยให้ทรูวิชั่นส์ขยายฐานสมาชิกได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากอนาคตเคเบิลทีวีสามารถมีโฆษณาได้ และการเจรจากับอสมท เป็นผลสำเร็จ ช่องรายการที่เป็น “โลคอลคอนเทนต์” ที่มีอยู่แล้ว 20 ช่องก็จะสามารถมีโฆษณาได้
นั่นหมายความว่า นอกจาก “ทรูวิชั่นส์” จะเติบโตจากฐานสมาชิกที่เพิ่มขึ้นแล้ว รายได้จาก “โฆษณา” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีอนาคตไม่น้อย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4037 หน้า 21