เป็น “สื่อมวลชน” ณ วันนี้ ไม่ใช่ง่ายง่าย..!!

โดย สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
มติชนรายวัน

 

ความขัดแย้ง สับสน วุ่นวาย ที่สั่นคลอนการเมืองไทยในขณะนี้ เป็นวิกฤติการณ์ ซึ่งสร้างความบอบช้ำให้กับบ้านเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจาก “การเมือง” เป็นสถาบันซึ่งเกี่ยวข้องการบริหารประเทศ และเปรียบเสมือนเป็น “ยาดำ” ที่แทรกซึมไปในทุกภาคส่วนของสังคม เมื่อการเมืองตกอยู่ในภาวะคับขัน รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับสารพันปัญหารุมเร้าจนส่งผลต่อการทำงาน ย่อมส่งผลให้ประเทศตกอยู่ใน “ภาวะสุญญากาศ”….

ขณะที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะ “หน้าสิ่วหน้าขวาน” เชื่อว่าคนไทยทุกคนย่อมคาดหวังว่าสื่อมวลชนซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีอิทธิพลต่อสังคมจะเข้ามามีส่วนช่วยในการประคับประคองให้ประเทศชาติอยู่รอด… (วันนี้คงต้องยอมรับว่า ไม่ว่า “ประชาชน” จะหันไปทางพรรครัฐบาล พันธมิตร นปช. หรือแม้แต่พรรคฝ่ายค้านก็ดูเหมือนจะไม่มีใครจะเป็นที่พึ่งให้ได้จริงจริง…!!)

นักวิชาการทั้งเทศและไทย ต่างศึกษาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนทำให้ได้แนวคิดและทฤษฎีที่อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งที่นอกเหนือไปจากครอบครัว ศาสนา และ สถาบันการศึกษาที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการครอบงำทางความคิด ที่ใช้การอบรมบ่มเพาะ ปลูกฝังความคิดค่านิยม อุดมการณ์ ฯลฯ ทีละเล็กละน้อยในชีวิตประจำวันทุกวัน

ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมทางวิชาการของอิทธิพลจากสื่อมวลชนนั้น คงหนีไม่พ้น “ทฤษฎีเข็มฉีดยา” (Hypodermic needle Theory) เชื่อว่าผู้ส่งข่าวสาร เป็นผู้มีอำนาจและบทบาทสำคัญที่สุด เพราะสามารถกำหนดข่าวสารและส่งข่าวสารไปยังผู้รับ โดยการคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในอดีตรัฐบาลเผด็จการพรรคนาซี (Nazi Party) ใช้สื่อมวลชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในการสร้างลัทธิชาตินิยมและสนับสนุนเยอรมนีเข้าสู่ความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก จนลุกลามเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

“ทฤษฎีการกำหนดวาระ” (Agenda Setting Theory) เชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลในเรื่องของความรู้ (Cognitive Theory) มีมุมมองว่า สื่อมวลชน จะสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ผู้คนสนใจติดตามเรื่องราวนั้น เมื่อให้ความสนใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แล้วนำเสนอเรื่องราวนั้นๆ ออกสู่สาธารณชนให้รับทราบเป็นประจำสืบเนื่องกันไปสักระยะหนึ่ง ผลจากการกระทำเช่นนี้นั้น สามารถทำให้สาธารณชนส่วนใหญ่เกิดความคล้อยตาม และรู้สึกว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และต้องให้ความสำคัญ

จากงานวิจัยในต่างประเทศ ทำให้พบว่า “ช่องว่างทางความรู้” (Knowledge Gap) ระหว่างผู้รับสารที่รับรู้ได้ไม่เท่ากันอันเกิดจาก “สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และบุคคล” (Socioeconomic Status) เช่น ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ฐานะทางสังคม กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อุปนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น สามารถถูกลดช่วงว่างลงได้ จากการให้ข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ผ่านสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ ซึ่งกลายเป็นสื่อที่ช่วยระดับความแตกต่างของความรู้

ปัจจุบันแม้ “สื่อดิจิตอล” หรือ “สื่อใหม่” (New Media) เช่น Internet website E-mail Blog เป็นต้น จะเริ่มเข้ามา “สั่นคลอนบัลลังก์” สื่อมวลชนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนก็ยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากความคุ้นเคย การเข้าถึงที่ค่อนข้างสะดวก และแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่า

เมื่อเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อการ “ชักนำ” ความคิด “กำหนดวาระ” ของสังคม ดังนั้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน “สื่อมวลชน ณ วันนี้” ควรทำหน้าที่อย่างไร? จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด คงเป็น “คำถาม” ที่พูดตรงตรงว่า “ตอบยาก”…!!

ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวและไวต่อกระแส “การทำหน้าที่ในการให้ข่าวสาร” (Informative Function) โดยนำเสนอข่าวสารด้านสถานการณ์บ้านเมืองอย่าง “ความถูกต้อง” (Accuracy) “ตรงไปตรงมา”(Objectivity) ด้วย “ความเสมอภาค” (Balance) “ไม่แทรกแซงสิทธิส่วนบุคคล” (Privacy) ” ต้องอ้างแหล่งที่มาของข่าวได้” (Using Sources Responsibly) และนำเสนอข้อมูลข่าวสารรอบด้านในเชิงสร้างสรรค์

ภายใต้จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด และไม่ตกเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อช่วยให้ “ประชาชน” มีข้อมูลในการตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างถูกต้องในที่สุดเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น…!!

ส่วน “การทำหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็นหรือการชักจูงใจ” (Persuasive Function) “การทำหน้าที่ในการให้ความรู้ (Educational Function) “การทำหน้าที่ด้านการทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว” (Integration Function) “การทำหน้าที่ในการส่งเสริมวัฒนธรรม” (Cultural Function) และ “การทำหน้าที่ในการให้ความบันเทิง” (Entertainment Function) ล้วนเป็นหน้าที่ที่ต้องตั้งใจปฏิบัติอย่างแข็งขัน

คงต้องยอมรับว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในฐานะผู้ที่สะท้อนความเป็นจริง (Reflecting reality) ในวันนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะหากนำเสนอข่าวรัฐบาลมากก็ถูกปรามาสว่าไม่เป็นกลาง และถูกครอบงำโดยรัฐ หากนำเสนอข่าวพันธมิตรมากก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้ประเทศชาติเสียหาย หรือหากไม่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับความแตกแยกก็ผิดจรรยาบรรณสื่อ และเป็นการ “ปิดหูปิดตา” ประชาชน (เรียกว่าเป็นสื่อมวลชนวันนี้ “วางตัวลำบาก” ก็คงไม่ผิด)

ถึงจะเป็นสิ่งที่แสนยาก แต่สื่อมวลชนต้องทำ และคงต้องพยายามหาแนวทางในการนำเสนอข่าวบน “ความลงตัว” โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดนั้น ไม่ใช่การนำเสนอข่าว เพื่อความ “ถูกใจ” รัฐบาล ไม่ใช่ เพื่อ “เอาใจ” พันธมิตร แต่ทำเสนอข้อมูลความเป็นจริง เพื่อ “ประชาชน” และ “ประเทศชาติ”

หลายวันที่ผ่านมาเชื่อว่า “สื่อมวลชนทุกแขนง” ต่างรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ห่วงใยชาติบ้านเมืองไม่แพ้ “คนไทยทุกคน” และต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ศักยภาพ ประสบการณ์ ความเป็นเครือข่ายสื่อมวลชนที่มั่นคง และฝังรากลึกในสังคมมาอย่างยาวนาน ก็คงพอจะ “เชื่อใจ” ได้ว่า สื่อมวลชนน่าจะเป็นอีกสถาบันที่เป็น “ความหวัง” ในการหา “ทางรอด” ให้กับประเทศไทยได้….

“ฝ่ายการเมือง” … รัฐบาล ฝ่ายค้าน พันธมิตร หรือ นปช. … “ฝ่ายข้าราชการ” …ทหาร ตำรวจ หรือ แม้แต่ครู… “สื่อมวลชน” ใครก็ได้ครับ..?

ขอให้ยุติวิกฤตปัญหาให้ได้จริงจริงเสียที…!!

เพราะทุกวันนี้ “สงสาร” “ประเทศชาติ” … “ประชาธิปไตย” … “ประชาชนตาดำ” เหลือเกิน..!!

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11138 หน้า 5

แท็ก คำค้นหา