คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย ฐากูร บุนปาน
หลังจากม็อบ นปช.เคลื่อนขบวนมาปะทะกับม็อบพันธมิตร และมีคนเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย
รัฐบาลก็ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร และตั้ง ผบ.ทบ.ขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์
หรือแปลว่าเป็นผู้รับผิดชอบสลายการชุมนุม
ซึ่งตามหลักการแล้วก็คือ ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายไหน แต่ที่คนทั่วไปเข้าใจก็คือสลายการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรเป็นหลัก
ถึงกระนั้นฝ่ายพันธมิตรก็ไม่ยอมถอย กลับเรียกระดมคนให้มาชุมนุมกันมากขึ้นไปอีก
ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ถ้ามากันมากๆ รัฐบาล ทหาร หรือตำรวจก็เข้ามายุติการชุมนุมไม่ได้
แล้วยังไง? แล้วจะจบกันตรงไหน?
คือคำถามที่คนส่วนใหญ่ในสังคมถามตัวเอง ถามคนใกล้ตัว และถามกันทั่วไปอยู่ทุกนาทีทุกวินาที
คำตอบคือไม่มีใครรู้
แต่ถ้าถามว่า พอจะมีทางออกที่จะหลุดพ้นจากวังวนอุบาทว์นี้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
มีครับ แต่ใครจะสนใจรับฟังหรือไม่ในยาม “หน้ามืด” อย่างนี้
เมื่อสองสามวันก่อน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่องการเมืองท่ามกลางวิกฤตขัดแย้ง
และกลุ่มนักวิชาการร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องทั้งฝ่ายพันธมิตร ยุติยุทธวิธีการเผชิญหน้า และรัฐบาลไม่ใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชน
แบ่งเป็น 3 ข้อคือ
1.ยุทธวิธีที่ฝ่ายพันธมิตรนำมาใช้ เสมือนยั่วยุให้รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม จะนำไปสู่การนองเลือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเปิดโอกาสให้เกิดการรัฐประหาร ไม่อาจเรียกว่าสันติวิธีได้อีกต่อไป จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตร ยุติยุทธวิธีที่นำสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงและวงจรอุบาทว์ทางการเมือง
2.ผู้นำฝ่ายพันธมิตรมุ่งเอาชนะเพียงประการเดียว โดยบอกกับสังคมว่าอารยะขัดขืนคือการทำอะไรก็ได้ตามใจตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎกติกามารยาทใดๆ ในสังคม เป็นการทำลายความชอบธรรมของอารยะขัดขืน และใช้มวลชนเป็นโล่กำบังตนเอง
จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำพันธมิตร ยุติการใช้ชีวิตของมวลชนเป็นเดิมพันเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน
3.ขอเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้นำพันธมิตร ยอมถอยคนละก้าวเพื่อลดความตึงเครียด และป้องกันโอกาสที่จะเกิดรัฐประหาร
ฝ่ายรัฐบาลต้องอดกลั้น ยึดมั่นในสันติวิธี ไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน และสัญญาว่าใน 1 ปีหลังจากนี้ จะยุติความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องตนเอง ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่กำลังเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตน
ส่วนผู้นำพันธมิตร จะต้องยุติยุทธวิธีที่นำไปสู่ความรุนแรง พร้อมเข้ามอบตัวเพื่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
ขอกันมากไปไหมในวันที่เลือดเข้าตา?
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11134 หน้า 2