คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
มติชนรายวัน
มีบทเรียนในประวัติศาสตร์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศในเรื่องการส่งกำลังเข้าสลายการชุมนุม
ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองกวางจูแห่งเกาหลีใต้
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ณ เทียนอันเหมิน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นการรุกเข้าไปสลายการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
บทเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉินจักต้องนำมาศึกษา
แม้กระทั่งเหตุอันเกิดขึ้นกับ “ปารีสคอมมูน” ก็มีความสำคัญเป็นอย่างสูง
เพราะว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณ ทำเนียบรัฐบาล นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา คือคำประกาศการต่อสู้ครั้งสุดท้ายอันเป็นแรงบันดาลใจจากท่อนหนึ่งในบทเพลงแองเตอร์นาซิอองนัล
เพราะว่าแนวทางในการแก้ไขของปัญหาคือ การใช้กฎหมายบังคับใช้อย่างนุ่มนวล มิใช่หรือ
ขณะที่ในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ลักษณะการปราบปรามดำเนินไปอย่างกระจัดกระจาย
ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณหน้าสวนจิตรลดา ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ท้องสนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นบนถนนราชดำเนิน
สถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 ดำเนินไปในลักษณะปิดประตูตีแมว
นั่นก็คือ การส่งกำลังตำรวจและกำลังลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง เข้าล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงปืนเข้าสลายการชุมนุม
เหตุการณ์ครั้งนั้นเหี้ยมโหดและรุนแรงอย่างยิ่ง แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเมืองพุทธศาสนา
สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ดำเนินไปคล้ายทั้งกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2519 และไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 คือ ความรุนแรงจากทหารที่ประชาชนซึ่งเฝ้าดูอยู่รับไม่ได้
เมื่อรับไม่ได้กระแสต่อต้าน กระแสคัดค้าน จึงขยายออกกระทั่งรัฐบาลอยู่ไม่ได้
ความจริงแล้ว การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล มีลักษณะจำกัดและปิดกั้นตัวเองเป็นอย่างสูง
เพียงแค่ใช้กำลังปิดล้อม ไม่ให้มีคนเข้า ไม่ให้มีคนออก ก็มีปัญหาแล้ว
ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ต้องใช้หลักกฎหมาย ต้องใช้ความนุ่มนวลเข้าบริหารจัดการให้ทุกอย่างจบลงด้วยความราบรื่น
ขั้นแรกที่สุดย่อมต้องเป็นการขอร้องให้ฝ่ายที่ชุมนุมยอมรับฟัง
ขณะเดียวกัน ก็ต้องดำเนินการสกัดกั้นมิให้ปริมาณของผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้น นั่นก็คือทำให้ลดลงแต่มิให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
หากในจุดนี้ไม่ทำอย่างมีเหตุผลมีความชอบธรรมแล้ว แทนที่จะทำให้เป็นคุณกลับจะกลายเป็นโทษ เพราะหากขาดความชอบธรรม ขาดเหตุผลอันเหมาะสม ก็เท่ากับไปสร้างความเห็นใจให้กับพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย
หมายถึงการชุมนุมจะขยายแนวออกไปอีก ในขณะที่โอกาสที่จะมีการชุมนุมในต่างจังหวัดและในจุดอื่นๆ ของ กทม.ก็มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะมีอยู่แล้ว เพราะว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีแนวร่วมของตนอย่างกว้างขวาง
บทเรียนจากกวางจู บทเรียนจากเทียนอันเหมิน บทเรียนจากเดือนตุลาคม 2516 และบทเรียนจากเดือนตุลาคม 2519 และจากเดือนพฤษภาคม 2535 จึงทรงความหมายยิ่ง
สถานการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นสถานการณ์ 1 ที่จะต้องนำมาเป็นบทเรียน
เป็นบทเรียนทั้งในด้านของการเมืองภาคประชาชน เป็นบทเรียนทั้งในด้านการเมืองของพรรคการเมือง เป็นบทเรียนทั้งในด้านของฝ่ายทหารและตำรวจ
พ.ร.ก.อาจเป็นคำตอบ 1 แต่มิใช่ว่าเป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่งและทุกสถานการณ์
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11134 หน้า 3