บทบาทสื่อในยุคการเมืองระอุ

โดย รุจน์ โกมลบุตร โดย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์
มติชนรายวัน

 

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่การเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งมาถึงการชุมนุมต่อเนื่อง 3 เดือนเศษที่สะพานมัฆวานฯ และการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (เอ็นบีที) รวมทั้งสถานที่ราชการอื่นๆ ล้วน “มีที่มาที่ไป” มิได้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ๆ ก็ลอยโผล่เข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

และในท่ามกลางการมีอยู่ของพันธมิตรและความขัดแย้งที่มีต่อ “อดีตนายกฯ” รวมถึงรัฐบาลนายสมัคร ซึ่งถูกพันธมิตรกล่าวหามาโดยตลอดว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของอดีตนายกฯ ได้พัฒนาความขัดแย้งดังกล่าวให้กลายเป็น “แผลลึก” จนนำไปสู่ความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง

ในฐานะที่ผู้เขียนมีความสนใจในด้านสื่อ จึงอยากจะใช้เวทีแห่งนี้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน (และอาจรวมถึงผู้แสดงความเห็นผ่านสื่อสาธารณะในแขนงต่างๆ) ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ “สันติ-อหิงสา” กำลังถูกท้าทายอย่างเต็มที่

ดังนี้

ประการแรก ในภาวะปกติ สื่อต้องทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงอันครบถ้วนมาสะท้อนให้ประชาชนได้รับทราบอยู่แล้ว แต่ในสภาวะหมิ่นเหม่เช่นนี้ ข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ล้วงลึกจากแหล่งข้อมูลที่รู้จริง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดขึ้นไปจากระดับปกติ

คำถามทุกคำถามที่ประชาชนสงสัยใคร่รู้ จะต้องถูกป้อนไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้อง “เกรงอกเกรงใจ” ว่าผู้คนเหล่านั้นจะกระอักกระอ่วนใจในการตอบ แต่การสอบถามด้วยท่าทีที่สุภาพก็ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเสมอเช่นกัน

นอกจากนี้สื่อต้องไม่ “เหมารวม” เรื่องที่เกิดขึ้นโดยต้องพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงอย่างแยกแยะและรอบด้านให้มากที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่าข้อเท็จจริงมีหลายด้าน

การนำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่พันธมิตร ยึดสถานที่ราชการหลายแห่งนั้น หากดูให้ดีจะเห็นว่า แม้จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่สื่อหลายสื่อก็พยายามนำเสนอให้ประชาชนเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องน่าชมเชย

ขณะที่ก็มีอีกบางสื่อที่นำเสนอขับเน้นอยู่เพียงแต่บางเหตุการณ์

(ภาษาโรงหนังชั้นสอง เขาเรียกว่า “ฉายวนตลอดวัน”)

ประการที่สอง ในแง่ของการนำเสนอความคิดเห็น สื่อมวลชนควรเลือกสรรผู้มาให้ความเห็นที่หลากหลาย กองบรรณาธิการพึงเท่าทัน “อคติ” ของตัวเอง และไม่ใช้ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ในการคัดเลือกผู้มาให้ความเห็น

หลายครั้งที่เราจะได้เห็นคน “พวกเดียวกัน” ใช้สื่อสาธารณะที่น่าสงสัยว่า พวกเขาต้องการใช้สื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองและพวกพ้อง หรือว่ากำลังนำเสนอความเห็นในลักษณะที่เคารพสิทธิการรับรู้ของผู้รับสาร

การนำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพียงด้านเดียวให้แก่สาธารณะ ย่อมถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ ในภาวะล่อแหลมแบบนี้ การไม่เสนออะไรเสียเลยในเรื่องนั้นๆ ยังอาจจะดีเสียกว่า

ในที่นี้ผู้เขียนขอชื่นชมสถานีโทรทัศน์ “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” (และสื่ออีกบางแห่งที่จะไม่ขอเอ่ยชื่อไว้ในที่นี้) ที่พยายามยึดหลักการให้โอกาสทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้คนที่มีทรรศนะที่แตกต่างหรือตรงข้ามกัน สามารถมาออกอากาศด้วยกันได้ในหลายๆ ครั้ง

ประการถัดมาคือ การที่สื่อต้องมีระยะห่างจากกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อที่จะได้ทำตัวเป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดข้อเท็จจริงได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีเอี่ยว ไม่มีลุ้น ไม่ตก (หรือยินดีพลีกาย) เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ผู้เขียนพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว นักข่าวก็คือมนุษย์ ที่ยากที่จะตัดขาดจากรัก-โลภ-โกรธ-หลง ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่ได้เห็นนักข่าวจำนวนไม่น้อยนิยมชมชอบฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไร เพราะคงไม่มีนักข่าวคนใดที่ไม่รู้สึกรู้สากับโลกแวดล้อมตัวเอง

แต่ตราบใดที่ผู้สื่อข่าวยังมีสติเท่าทันอคติของตัวเอง และพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว ไปพัวพันกับหน้าที่การงานที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่รอบด้านให้ประชาชนทราบ

ผู้เขียนก็เชื่อว่าเป็นสภาวะที่เข้าใจได้และยอมรับได้

ประการสุดท้ายคือ สื่อต้องพึงระมัดระวังการใช้คำเรียกขานบุคคลในข่าวมิให้นำพาสังคมให้ไปใช้อารมณ์ มากกว่าเหตุผลในการทำความเข้าใจเรื่องราว เช่น แก๊งข้างถนน พวกหัวโจก พวกทำลายบ้านเมือง ฯลฯ

สำหรับรัฐบาลสมัคร ซึ่งเป็นเป้าหมายการขับไล่ของพันธมิตรนั้น ที่ผ่านมาก็ถูกพันธมิตร สื่อมวลชน และประชาชนบางส่วนตั้งข้อสงสัยต่อความเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดให้แก่อดีตนายกฯ เช่น กรณีความไม่มีประสิทธิภาพในการสกัดกลุ่มคนรักอุดรฯ กรณีเงื่อนงำการไปติดต่อกับเขมรเรื่องเขาพระวิหาร ติดต่อกับลาวเรื่องสร้างเขื่อน การแก้รัฐธรรมนูญที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้อดีตนายกฯ ฯลฯ ปมเหล่านี้ล้วนคลี่คลายได้ด้วยการให้ทุกฝ่ายเข้าไปตรวจสอบ มิใช่การพูดจาอยู่ฝ่ายเดียว (นี่ยังไม่นับรวมว่า “ข้อเท็จจริง” ที่พูดมานั้นยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ในหลายๆ ครั้ง)

กล่าวโดยสรุปก็คือหากสื่อทำหน้าที่ได้อย่างรัดกุม และรัฐบาลใช้การสื่อสารคลี่คลายปมปัญหาที่ชวนสงสัยให้หมดไป ความล่อแหลมจากการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนตามรัฐธรรมนูญ ก็จะลดน้อยลงได้

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11133 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา