ปฏิบัติการแย่งยึดคลื่นสื่อภาพ และเสียงจากประชาชน

โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ pmarukpltak@yahoo.com
มติชนรายวัน

 

รัฐบาลชุดนี้มีความสันทัดยิ่งนักในการทำผิดก้าวพลาดซ้ำซาก

นอกเหนือจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ากรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้นเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) แล้ว

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ครม.ยังเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …. โดยให้นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสิงหาคม 2551 นี้

รัฐบาลสั่งสมความผิดพลาดอีกครั้งโดยไม่ไยดีกับข้อเรียกร้องของ 22 องค์กรสื่อภาคประชาชนที่มีความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

จะไม่ค้านได้อย่างไร ในเมื่อนี่คือปฏิบัติการแย่งยึดคลื่นสื่อภาพและเสียงไปจากประชาชน

เหตุผลมีดังนี้

1.ขัดต่อเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

จึงถือว่ากระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร และไม่มีมาตรการเพื่อป้องกัน มิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด

ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ร่าง พ.ร.บ.นี้ในมาตรา 8 วรรค 3 กำหนดให้องค์กรหรือสถาบันใดที่ถูกปฏิเสธในการขอขึ้นทะเบียน มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง แต่การฟ้องคดีดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ศาลปกครองต้องระงับการดำเนินการเสนอชื่อหรือคัดเลือก

ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 223 ในเรื่องอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งระงับหรือชะลอการดำเนินการที่เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองที่ปฏิเสธการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว

2.กสช.สิ้นความเป็นอิสระ

ที่มาและกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) ตามมาตรา 11, 12, 13 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขาดความเป็นอิสระ เนื่องจากให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) ทั้งหมด แตกต่างจากการสรรหาคณะกรรมการในองค์อิสระอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้คัดเลือกสรรหาและแต่งตั้ง

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสช.) ไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระ ขาดสาระสำคัญของการเป็นองค์กรอิสระ

มีการกำหนดให้เมื่อ กสช.จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ จะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 21 วรรคสอง ของร่างพระราชบัญญัตินี้

แสดงให้เห็นถึงการขาดอิสระอย่างแท้จริง

3.สิทธิของภาคประชาชนในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ถูกตัดออกไป

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 กำหนดให้การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และการขออนุญาตให้ประกอบการ ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

แต่ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … ที่รัฐบาลเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณานั้น ได้ตัดข้อความดังกล่าวออก

จึงถือว่าเป็นการตัดสิทธิในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง ผิดเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

4.ไม่มีธรรมาภิบาล

ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ กสช.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสช. กกสช. กกทค. สำนักงาน กสช. และเลขาธิการ กสช. แล้วรายงานผลให้ กสช. ทราบโดยไม่มีการตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการจากบุคคลภายนอก ดังนั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว ย่อมอยู่ภายใต้อาณัติของ กสช. จึงไม่เอื้อต่อการสร้างธรรมาภิบาลให้องค์กร

ร่าง พ.ร.บ.นี้ ในมาตรา 72 ที่กำหนดให้การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ กสช.หรือผู้ซึ่งใช้อำนาจของ กสช.มิได้ดำเนินการบังคับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น การที่ กสช.มีหน้าที่ดูแลและจัดการทรัพยากรสื่อสารของชาติอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับบัญญัติมิให้รับโทษตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นการหลีกเลี่ยง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. และความผิดอันเป็นมูลฐานความผิดในกฎหมายว่าด้วย ปปง.

ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงขาดหลักความเสมอภาคกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานอื่น และหลักนิติรัฐ ในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

สาระสำคัญที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ สูญสิ้นความเป็นอิสระ ผลักไสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออกไป และไร้ธรรมาภิบาล เป็นเนื้อหาใจกลางของร่าง พ.ร.บ.ที่ทำลายความชอบธรรมทั้งมวลและจะก่อเกิดสารพันปัญหาทางกฎหมายตามมาแน่นอนดังที่เคยเกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ กสช.-กทช. ตั้งแต่ปี 2543 มาแล้ว

องค์กรสื่อภาคประชาชนทั่วทุกภาค ทุกองค์กรทั่วประเทศ รวมใจกันคัดค้านอย่างแข็งขันมาแล้ว

ปฏิบัติการภาครัฐในการแย่งยึดคลื่นสื่อภาพและเสียงไปจากประชาชน ทำให้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ก้าวไปไม่พ้นวังวนแห่งการเป็นเครื่องมือของรัฐ และเป็นปัจจัยทำมาหากินเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน ที่ไม่เกิดผลต่อการปฏิรูปสื่อใดๆ เลย

สิ่งที่ไม่ชอบธรรมในเนื้อในตัว จะก่อให้เกิดความชอบธรรมในอนาคตไปไม่ได้

ถอนร่างออกไปเถิดรัฐบาล ประชาชนจะร่างขึ้นด้วยน้ำมือของตนเองเพื่อความเป็นอิสระและทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11129 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา