กรมประชาสัมพันธ์ หนีไม่พ้น”เงาอดีต”

คอลัมน์ เคียงข่าว
มติชนรายวัน

กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตกเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการยึดทำลายโดยฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไทยในอดีตมาตลอด เนื่องจากมองว่าเป็น “กระบอกเสียง” ให้รัฐบาลใช้โฆษณาชวนเชื่อด้านเดียว จนถูกตั้งฉายาว่า “กรมกร๊วก”

ย้อนหลังไปในอดีต วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง โดยเฉพาะที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร กองสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึก ก.ต.ป. ฯลฯ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจเป็นบางจุด มีการบุกเข้ายึดและทำลายกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานสลาก ตึก ก.ต.ป.ที่เป็นกระบอกเสียงและสัญลักษณ์ของเผด็จการคณาธิปไตย

เช่นเดียวกับคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 ระหว่างผู้ชุมนุมหลายพันคนปักหลักขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี อยู่บนถนนราชดำเนินกลาง มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายทุบกระจกกรมประชาสัมพันธ์ จากนั้นใช้ขวดบรรจุน้ำมัน เศษผ้า เศษกระดาษ โยนเข้าไปข้างในตึก ทำให้เพลิงลุกไหม้ และไม่มีใครสามารถดับได้ทัน ผลคืออาคารทั้งหลังถูกเผาจนวอดวาย

เมื่อเหตุการณ์ “พฤษภา 35” สงบลง รัฐบาลตัดสินใจย้ายที่ตั้งกรมประชาสัมพันธ์จากถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมต่อการยึดทำลายไปอยู่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ แยกส่วนกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ไปอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต แต่ดูเหมือนจะหนีไม่พ้น

ล่าสุด เช้ามืดวันที่ 26 สิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 1,000 คน ได้บุกเข้าไปยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง 11) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อปิดช่องทางสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทั่วประเทศ

เหตุการณ์นี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11127 หน้า 13

แท็ก คำค้นหา