โฆษณาบน YouTube ทางเลือกใหม่ของสื่อ

คอลัมน์ webbiz
โดย siripong@kidtalentz.com

 

กรณีพิพาทระหว่างเว็บวิดีโอชื่อดังอย่าง YouTube กับบริษัทเจ้าของสื่อใหญ่ๆ นั้นมีมานานแล้ว โดย YouTube ถูกกล่าวหาว่าเป็นเว็บที่เอื้ออำนวยให้ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลาย เพราะสมาชิกผู้ใช้งานนำเอาวิดีโอของบริษัทเหล่านี้ไปใส่ไว้ใน YouTube กันมากมายก่ายกองโดยที่เจ้าของผลงานก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ความพยายามที่จะบีบให้ YouTube แบนหรือนำเอาวิดีโอละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้นออกจากเว็บมีมาตลอด

แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า การต่อกรกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บน YouTube ลำบากที่จะเอาชนะ ในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ที่จริงแล้วคือลูกค้าหรือแฟนของสื่อที่นำมาโพสต์ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกวิดีโอ หรือ ซีรีส์ต่างๆ การปฏิบัติต่อแฟนในลักษณะศัตรูจึงไม่น่าจะเกิดผลดี นอกจากนั้นผู้ที่นำเอาวิดีโอคลิปไปโพสต์บน YouTube นั้นก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าใดๆ

ท่าทีของบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทตอนนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นซีบีเอส, ยูนิเวอร์แซลมิวสิค, อิเลคทรอนิก อาร์ต, ไลออนเกตส์ และอีกหลายบริษัท แทนที่จะมอง YouTube และเหล่าแฟนานุแฟนที่นำวิดีโอคลิปไปโพสต์บนเว็บเป็นศัตรู ก็เปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรกับ

YouTube แล้วอาศัยคลิปเหล่านั้นเป็นที่โฆษณาเพื่อหารายได้เสียเลย

ส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาที่ปรากฏบนคลิปแบ่งกันระหว่าง YouTube กับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยที่คนโพสต์คลิปนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่เมื่อนำคลิปซึ่งเป็นลิขสิทธิ์บริษัทซึ่งมีข้อตกลงกับ YouTube ผู้โพสต์จะได้รับอีเมล์แจ้งถึงสิทธิของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์จากวิดีโอคลิปนั้น

ซึ่งก็คืออีเมล์ที่แจ้งว่าจะใส่โฆษณาเพิ่มเข้าไปในวิดีโอคลิปที่สมาชิกโพสต์ขึ้นไปนั่นเอง

ที่จริงเทคโนโลยีวิดีโอ ไอดีที่ YouTube พัฒนาขึ้นมาในการตรวจสอบเนื้อหาวิดีโอว่าละเมิดลิขสิทธิ์ใครหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นพัฒนาขึ้นมาเพื่อเปิดช่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ลบคลิปนั้นออกเมื่อพบว่าละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามแทนที่จะมีทางเลือกสำหรับลบออกเพียงอย่างเดียว YouTube กลับเสนอทางเลือกเพิ่มขึ้นให้เจ้าของลิขสิทธิ์ใส่โฆษณาเข้าไปในคลิปนั้นๆ ได้ ซึ่งปรากฏว่าทางเลือกในการยอมรับโฆษณาได้รับความสนใจอย่างมาก

ถึงตอนนี้ปรากฏว่าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของคลิปที่ถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจพบและแสดงความเป็นเจ้าของนั้นไม่ได้ถูกลบออกจาก YouTube แต่มันยังคงอยู่บนนั้นโดยใส่โฆษณาเพิ่มเข้าไป กลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ใหม่

แม้ว่าสัดส่วนของรายได้ในปัจจุบันจะยังไม่มากนัก และบริษัทสื่ออีกหลายแห่งยังลังเลใจ หรือไม่ยอมร่วมด้วยเพราะต้องการเรียกคนเข้าเว็บของตัวเองโดยตรงมากกว่า แต่ในระยะยาววิธีนี้น่าจะดีกว่าวิธีอื่นโดยเฉพาะวิธีที่มองคนโพสต์คลิปวิดีโอเป็นศัตรู

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4029 หน้า 36

แท็ก คำค้นหา