คอลัมน์ webbiz
เมื่อไม่กี่วันมานี้ แคนน์ (Internet Corporation for Assigned Names and Number) องค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องการจัดระเบียบอินเทอร์เน็ตผ่านมติที่ประชุมเกี่ยวกับการปลดปล่อย “top-level domain” (TLD) ซึ่งเข้าใจกันง่ายๆ หน่อยว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้จะทำให้การจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการตั้งชื่อเว็บไซต์อย่ามากในอนาคต จะนำมาซึ่งความหลากหลายอย่างมาก
จากเดิมที่เราเคยมีเว็บไซต์ดอตต่างๆ ที่รู้จักกันดี เช่น .com .net .org เป็นต้น แม้ในระยะหลังๆ ไอแคนน์ จะเปิดให้มี TLD ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาจำนวนหนึ่งเช่น .biz .mobi .asia เป็นต้น แต่ระเบียบที่เข้มงวดก็ทำให้การขยายตัวเป็นไปอย่างไม่น่าพึงใจ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงนิยม .com เพราะผู้ใช้เคยชินมากกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่จะทำให้สามารถมี ดอตอื่นๆ ที่เป็นสามัญธรรมดาเพิ่มขึ้นมาได้อย่างมากมายให้เลือกง่ายขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีหน้าก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ แม้ในระยะเริ่มต้นจะยินยอมให้เปิดดอตใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจและองค์กรที่สำคัญๆ ก่อนก็ตาม
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ต่อไป อาจจะมีเว็บไซต์ .bangkok ขึ้นมาเป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครหรือองค์กรใดยื่นขอเป็นผู้ดูแล TLD นั้นๆ และผ่านการอนุมัติของไอแคนน์ แต่มันจะไม่เข้มงวดเหมือนอดีตที่ผ่านมาแน่นอน
องค์กรที่ว่านี้เป็นไปได้แม้กระทั่งกลุ่มประชาชน บริษัทธุรกิจ และ TLD นั้นเป็นไปได้แม้กระทั่งชื่อคน แต่การขอเป็น รีจิสตรีส์สำหรับ TLD ก็จะต้องมีทั้งความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน และความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ใครๆ ก็จะขอเป็นกันได้ง่ายๆ
บริษัทที่มียี่ห้อดังๆ ของตัวเองเป็นที่รู้จักดีก็อาจจะขอ TLD เป็นยี่ห้อของตัวเองเสียเลย ทำให้ต่อไปเราก็อาจจะได้เห็นเว็บไซต์ที่มีส่วนท้ายของที่อยู่ว่า .sony .pepsi ฯลฯ ถ้าบริษัทเหล่านั้นเห็นว่าคุ้มค่าพอจะลงทุน
อย่างไรก็ตามด้านที่มองกันว่าอาจจะเป็นข้อเสียก็คือ บริษัทที่มี ยี่ห้อดังๆ จะต้องเสียเงินทองหรือค่าใช้จ่ายในการปกป้องชื่อยี่ห้อของตนไม่ให้ถูกนำไปใช้ในดอตอื่นที่คงจะเกิดขึ้นตามมามากมาย
ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนเปิด .bangkok แล้วมีคนไปขอจดเว็บเป็น www.pepsi. bangkok ขึ้นมา เป็นต้น
จุดอ่อนตรงนี้อาจจะกลายเป็นขุมทองของนักล่าชื่อเว็บไซต์เอาไว้ทำเงินจากเจ้าของชื่อตัวจริงก็ได้ ที่แน่ๆ เชื่อกันว่าความเฟื่องฟูของตลาดเก็งกำไรชื่อเว็บไซต์จะกลับมาอีกเที่ยว จากที่เคยบูมสนั่นมาแล้วในยุคแรกของดอตคอม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4015 (3215) หน้า 36