สุพัฒตรา ลิมปะพันธุ์ , เอกชัย ปิ้นแก้ว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ความอดกลั้น และความชอบธรรมต่อการสร้างความรุนแรงที่มองไม่เห็น ถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับกันว่า ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคลั่งไคล้ เป็นแฟนละครตัวยงของละครยอดฮิตหลายๆ เรื่อง อาจเป็นเพราะเติบโตใช้ชีวิตมากับการติดตามบทละคร อ่านนวนิยาย
หรือการชมละครโทรทัศน์ แม้แต่สื่อวิทยุก็ตาม ดังนั้นหากไม่มีธุระสำคัญอะไรจริงๆ ช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำ หลายๆ คนจึงเลือกใช้ชีวิตอยู่หน้าจอแก้วมากกว่าที่อื่นๆ
มาช่วงหลังๆ นี้ ที่เริ่มเห็นความแตกต่างของละครในบางเรื่อง และหลายๆ เรื่องกลับกลายเป็นละครที่มีคนดูลุกขึ้นมาบอกกล่าวว่า “ไม่ชอบ” ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นเพราะนักแสดง หรือการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ แต่กลับกลายเป็นเรื่องของความรุนแรง การอาละวาดด่าทอ ตบตี หรือการกระทำย่ำยีทางเพศอย่างไม่สมเหตุสมผล ในบางครั้งแทนที่จะดูละครเพื่อจรรโลงจิตใจก่อนเข้านอน กลับกลายเป็นการบีบคั้นหัวใจ และสร้างความตึงเครียดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ยิ่งในช่วงนี้ด้วยแล้วบทละครอมตะยอดฮิตเหล่านี้ หลายเรื่องนำกลับมาผลิตและดัดแปลงนำเสนอใหม่ แล้วล้วนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับทางนักแสดง ผู้จัด และเจ้าของกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกลายมาเป็นประเด็นเม้าท์ต่อในที่ทำงาน หรือในรายการวิทยุโทรทัศน์แนวบันเทิง โดยหยิบเล่าเหตุการณ์เนื้อหามาบรรยายเป็นฉากเป็นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พระเอกกับนางเอก(รวมถึงนางร้าย) ของเรื่องมีบทตบ-จูบ-ลูบ-คลำ หรือแสดงฉากรักโรแมนติก (love scene) ซึ่งบางครั้งเลยเถิดไปถึงการข่มขืน และย่ำยีตัวละคร ตลอดจนการหยิบยกประเด็นของความแตกต่างทางเพศออกมาแสดงในท่าทีของการสัพยอกต่างๆ นานา
สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกันก็คือ “ความรู้สึกยอมรับ และอดกลั้นที่สังคมมีต่อลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมแบบ “แดกด่วน(fast food)” มากยิ่งขึ้น สื่อที่ครั้งหนึ่งถูกเปรียบเปรยเป็น “แสงสว่างนำทาง” กลับกลายเป็น “แสงสว่างอำพราง” ร่องรอยของความเจ็บช้ำ หมิ่นย่ำ และสร้างความรุนแรงทางเพศอย่างไม่รู้เนื้อตัว!!!
การสร้างการยอมรับแบบแผนการประพฤติปฏิบัติที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวแบบนี้แทรกซึม และค่อยๆ เติบโตมาพร้อมๆ กับสมาชิกของสังคมรุ่นแล้วรุ่นเล่า คำกล่าวอ้างว่า “เรื่องของผัวเมีย คนอื่นๆ อย่าง ส ใส่ เกือก” หรือ “อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เดี่ยวก็ถูกถอนหงอก” ยังคงถูกนำมาให้เหตุผลในการบอกว่า “ธุระไม่ใช่ตลอด จนมีการสนใจสำรวจสถิติพฤติกรรมความรุนแรงดังกล่าวแล้วพบว่า สถิติที่สร้างความสะพรึงกลัวว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ในผู้หญิงทุกๆ 3 คน จะมีผู้หญิง 1 คนที่เคยเจอเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ และในผู้หญิงทุกๆ 5 คน จะมีผู้หญิง 1 คนที่เคยถูกบังคับขืนใจ ตัวเลขเหล่านี้คงเป็นเครื่องยืนยันว่า เลิกได้แล้วกับการแก้ต่างจากผู้คนในแวดวงสื่อออกมาว่า “คิดว่าคนดูมีสติปัญหา ที่จะพิจารณาผิดชอบชั่วดีได้” หรือที่อาจจะแย่ไปกว่านั้นก็คือ “อย่าไปคิดมากน่า เป็นแค่การสร้างความบันเทิง”
ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมาคมสตรีนานาชาติผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์กระจายเสียงจึงร่วมกันจัดการสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่อง “บทบาทของสื่อกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะความรุนแรงต่อสตรีหายนะจากน้ำมือของคนใกล้ตัวที่ไม่อาจจะยอมรับได้” (Executive Summary of the Seminar on “Violence Against Women: Never Acceptable, Never Excusable, Never Tolerable What Role can Media Play?”) วันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมแกรนทาวเวอร์ อินน์ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 15 ประเทศ จำนวน 54 คนซึ่งส่วนใหญ่มีวิชาชีพในด้านการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก
คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงต่อสตรีมิใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมวลมนุษยชาติโดยรวม ความรุนแรงดังกล่าวมิใช่เรื่องที่เห็นได้ด้วยตาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความอคติ และความอดกลั้นที่สั่งสมในสังคม และพร้อมที่จะยอมรับและให้อภัยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น การต่อสู้เพื่อเอาชนะความรุนแรงดังกล่าว สื่อทำหน้าที่สำคัญที่จะตัดตอนกระบวนการ ไม่ผลิตซ้ำ ตอกย้ำภาพมายาดังกล่าว อีกทั้งยังต้องช่วยสร้างรูปแบบของสังคมที่ปราศจากอคติ และความรุนแรงทางเพศให้เกิดขึ้น
ในขณะที่โอเลีย โบยาร์ ประธานสมาคมสตรีนานาชาติผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์กระจายเสียง กล่าวว่า สมาคมฯ ทำงานมานานกว่าครึ่งศตวรรษ มีสมาชิกมากกว่า 30 คนจาก 53 ประเทศ ซึ่งมีอาชีพที่เกี่ยวข้องสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ที่ผ่านมาสมาคมฯ เห็นพัฒนาการ และความสำคัญของการรณรงค์การขจัดความรุนแรงต่อสตรี โดยในส่วนตัวเองที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็เห็นว่า สิ่งที่ทำได้เลยในวันนี้คือ สื่อเองต้องหมั่นตรวจสอบ และยับยั้งตัวเองมิให้ผลิตซื้อ ตอกย้ำภาพของความรุนแรงทางเพศ แล้วจึงสร้างสรรค์วิธีการต่างๆ ที่ลดทอนความรุนแรงดังกล่าว แล้วขยายออกไปในส่วนของการรณรงค์ในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป การทำงานของสมาคมฯ ในวันนี้จึงพยายามส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงที่มีวิชาชีพสื่อเข้าใจแนวคิด และวิธีในการสร้างสรรค์รายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อขจัดความรุนแรงทางเพศ โดยอาจจะเริ่มจากความรุนแรงที่มีต่อสตรีให้หมดไปด้วย
บรรยากาศของการประชุมสัมมนาเต็มไปด้วยเนื้อหา ประสบการณ์ ความรู้สึก และชะตากรรมของผู้หญิงที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในหลายรูปแบบ สื่อสร้างสรรค์เพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรี ประเด็นของการข่มขืนแบบโรแมนติก(Romantic rape)ที่นำเสนอในนวนิยายน้ำเน่าหรือวรรณกรรมคลาสสิกไปจนถึงการขจัดวัฒนธรรม หรือแบบแผนการประพฤติปฏิบัติที่อนุญาตให้กระทำความรุนแรงต่อสตรีในบางกลุ่มสังคมถูกหยิบยกผ่านวิทยากร และผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนากว่า 54 ชีวิตทีแบ่งปันประสบการณ์
ตอนท้ายของการสัมมนา ที่ประชุมได้ร่วมกันมองทิศทางกำหนดบทบาทของตนเองในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยมียุทธศาสตร์ร่วมกัน 3 ด้าน คือ คือ
ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง “การสานสร้างการทำงานในลักษณะเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ” ได้แก่ (1) การแบ่งปันประสบการณ์ เนื้อหา และเทคนิควิธีการนำเสนอ (2) การใช้สื่อชุมชนในการทำงานเชิงรุก (3) การสร้างแรงจูงใจโดยมอบรางวัลสื่อกับการสร้างสรรค์เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่ขจัดความรุนแรงทางเพศ (4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนทำงานในประเทศต่างๆ
ยุทธศาสตร์ที่สอง “การฝึกอบรม/ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ การผลิตสื่อที่มีความละเอียดอ่อนกับประเด็นทางเพศ” ได้แก่ (1) การแบ่งปันประสบการณ์ เนื้อหา และเทคนิคการนำเสนอ (2) การส่งเสริมให้ผู้หญิงพูด/สื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเอง (3) การนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงในเชิงสร้างสรรค์ (4) การเรียนรู้จากข้อเสนอแนะจริยธรรมของการทำงานสื่อในประเทศต่างๆ (5) การนำเสนอ/แลกเปลี่ยนเนื้อหาความรู้ต่างๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวในประเด็น “ความละเอียดอ่อนทางเพศ”
ยุทธศาสตร์ที่สาม “การให้การศึกษา/สร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองที่หลากหลายทางเพศสำหรับผู้ชาย” ได้แก่ (1) การสร้างสรรค์/ผลิตกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสำหรับผู้ชาย (2) การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใช้บทบาทสมมติ (การเปลี่ยนบทบาททางเพศ) (3) การสร้างสรรค์รายการ “สารคดีเชิงบันเทิง” ในเนื้อหาประเด็นดังกล่าว (4) การติดตาม นำเสนอตัวอย่าง “ยอดเยี่ยม” และ “ยอดแย่” เกี่ยวกับสื่อและการขจัดความรุนแรงต่อสตรี และนำเผยแพร่เปรียบเทียบผ่านสื่อต่างๆ เป็นระยะๆ (5) การสร้าง/พัฒนาเนื้อหาและระบบการศึกษาในโรงเรียนสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นต้น
ในท้ายสุด ผู้หญิงในวิชาชีพสื่อกว่า 54 ชีวิต ต่างเห็นพ้องกันว่า “ตนเอง” ต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้นำสื่อแห่งเปลี่ยนแปลง” เพื่อรื้อสร้างและทำลายภาพมายาของความรุนแรง ความอดกลั้น หรือความชอบธรรมในความรุนแรงทางเพศที่สั่งสม ฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน โดยเชื่อมั่นว่า “การรวมตัวกันทำงานเป็นแบบเครือข่าย” ทำให้เกิดความเข้มแข็ง กลายเป็น “พลังร่วมสร้างสื่อน้ำดีให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง”
แม้ว่า ปัจจุบันมีการใช้ทั้งตัวหนังสือจัดระดับความรุนแรงของพฤติกรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้แต่การใช้ภาพแบบแถบดำปิดคาด หรือการใช้ภาพเบลอๆ แบบยาหม่องป้าย แต่หากมองที่ประสิทธิภาพและการป้องกันปัญหาอย่างตรงจุด การตรวจสอบและเซ็นเซอร์เหล่านี้อาจจะยังน้อยไปหากเทียบกับรูปแบบของการสร้างเนื้อหาของสื่อที่แสดงออกถึงความรุนแรง จึงขอเรียกร้องให้ทางผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจกับการควบคุมเนื้อหาการผลิต และการสร้างสรรค์รายการให้มากยิ่งขึ้น เพราะนั้นเป็นการสร้างความรุนแรงอีกแบบหนึ่งที่แฝงมาในสิ่งที่เรามองไม่เห็นจริงๆ
นอกจากนั้นเราเองในฐานะ “ผู้บริโภคสื่อ” อาจจะต้องคิดพิจารณามากยิ่งขึ้น ว่า วันนี้เราพอใจ และให้อนุญาตกับพฤติกรรม “ตบ-จูบ-ลูบ-คลำ” ที่สร้างผ่านสื่อแล้ว หรือว่าเราจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงความคิดของสื่อว่า “ผู้บริโภคสื่ออย่างเราก็ไม่โง่ หลงยึดติดกับมายาภาพของความรุนแรง ความอดกลั้น และความชอบธรรมในความรุนแรงทางเพศที่สื่อสร้างและยัดเยียดให้เราถึงที่นอน” เราทำได้จริงแน่หากเราคิดว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง”
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 19 มิถุนายน 2551 เวลา 22:55:51 น.