จับตา…ทีวีดาวเทียม จุดเปลี่ยนโฆษณาไทย (จริงหรือ ?)

คอลัมน์ จับกระแสตลาด
ประชาชาติธุรกิจ

ว่ากันว่า ขณะนี้มีโทรทัศน์ที่ออกอากาศในรูปแบบ “ทีวีดาวเทียม” ไปแล้วประมาณ 60-70 ช่อง โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่กว่า 20 บริษัท อาทิ ไลฟ์ ทีวี, สไมล์ ทีวี, เอ็มวี ทีวี เน็กซ์สเต็ป, ทีเอสซี ฯลฯ และอยู่ระหว่างเตรียมการออกอากาศอีกไม่ต่ำกว่า 30-40 ช่องในปีนี้

พร้อมคาดกันว่า ถึงสิ้นปีนี้คนไทยจะได้บริโภคสื่อจากสื่อ “ทีวีดาวเทียม” รวมกว่า 100 ช่องแน่นอน

นั่นหมายความว่า สื่อ “ทีวีดาวเทียม” จะเข้ามามีบทบาทต่อผู้ชมโทรทัศน์ และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเจ้าของสินค้าและเอเยนซี่โฆษณาที่มองหาสื่อใหม่ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเองเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สื่อโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ที่เป็นสื่อหลักและมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจโฆษณาที่มีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาทอยู่ถึงเกือบ 60% ต้องเจอศึกหนักและปรับตัวกันอย่างหนักเช่นกัน

เหตุผลก็เพราะว่า “ทีวีดาวเทียม” ใน วันนี้ ไม่ได้วางคอนเซ็ปต์เหมือนเคเบิลทีวีที่ออกอากาศรายการละ 1 ช่อง เช่น ช่อง มิวสิกวิดีโอ, ช่องหนังต่างประเทศ ช่องเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ อีกต่อไปแล้ว

ล่าสุด MyTV ของบริษัทมีเดีย ทัช (ในเครือเอ็มทัช) ทีวีดาวเทียมของ “มีเดีย ออฟ มีเดียส์” ็เพิ่งประกาศตัวว่าจะให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายพร้อมจัดผังรายการในรูปแบบเดียวกับฟรีทีวี มีทั้งรายการข่าว สารดคี เกมโชว์ วาไรตี้โชว์ รวมถึงละคร

พูดให้ชัดๆ ก็คือ จัดผังชน “ฟรีทีวี”กันเลย แต่ใช้กลยุทธ์ “ราคา” เข้าสู้

ฟรีทีวีขายโฆษณาช่วงไพรมไทม์นาทีละ 4.5 แสน แต่ทีวีดาวเทียมขายนาทีแค่หลักพัน-หลักหมื่น แถมมีรูปแบบและวิธีในการโฆษณาสินค้าได้หลากหลายกว่าอีกด้วย

“ชาญเดช พรหมมณี” กรรมการผู้จัดการ “มีเดีย ทัช” ที่ผันตัวเองจากผู้ผลิตคอนเทนต์บนมือถือสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม ชี้ว่า นับจากนี้เป็นต้นไปธุรกิจทีวีดาวเทียมจะเบ่งบานและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายรองรับแล้ว (แม้ว่าจะยังไม่เกิด กสทช.) และมั่นใจว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 ช่องแน่นอน

โดยในส่วนของ “มีเดีย ทัช” นั้น ขณะนี้เปิดให้บริการ 1 ช่อง คือ MyTV เป็นช่องรายการวาไรตี้เช่นเดียวกับฟรีทีวีทั่วไป และมีแผนจะเปิดอีก 2 ช่อง โดย 1 ในนั้นจะเป็นทีวีดาวเทียมที่เป็นอินเตอร์แอ็กทีฟสำหรับเป็นแม่เหล็กในการดึงคนดู

“ชาญเดช” บอกอย่างมั่นใจว่าด้วยเทรนด์ของทีวีดาวเทียมที่กำลังตื่นตัวอยู่ในขณะนี้ จะสามารถทำให้ MyTV มีรายได้จากการขายโฆษณาได้ถึง 100 ล้านบาท/ปี

ส่วน “ช่อผกา วิระยานนท์” ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร เอ พลัส เอ็นเตอร์ เทนเมนต์ ผู้ผลิตทีวีดาวเทียมสถานีเพลง ลูกทุ่งและบันเทิง “ฮิต สเตชั่น” ที่มองว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการบริโภคสื่อที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น จึงเชื่อว่าเทรนด์นี้ “ทีวีดาวเทียม” ตอบโจทย์ได้ตรงสุด พร้อม คาดการณ์ในแง่ของรายได้ในครึ่งปีหลังนี้ (ช่วงเริ่มต้น) ได้ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ “โฆสิต สุวินิจจิต” กรรมการบริหาร “เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย” ผู้บริหาร “เฮลท์พลัส แชนนอล” ที่ชี้ก่อนหน้านี้ว่า แม้การลงทุนในทีวีดาวเทียมจะใช้เวลาคืนทุนพอสมควร แต่เชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ถึง 200-300 ล้านบาท

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนเป็น “ความคาดหวัง” ของผู้ประกอบการทั้งสิ้น

เพราะทุกรายเชื่อว่า ด้วยกฎหมายใหม่ ที่ให้มีโฆษณาได้ แถมจานรับสัญญาณยังมีราคาถูกลงเรื่อยๆ บวกกับความต้องการมองหาสื่อใหม่ของนักการตลาดจะเป็นตัวผลักดันให้ “ทีวีดาวเทียม” ไปถึงฝั่งฝันได้

แต่หากมองในมุมของต้นทุนการบริหารจัดการ ทั้งค่าผลิตคอนเทนต์ ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม กับมุมในด้านการรับสัญญาณ ที่ผู้ชมต้องลงทุนซื้อจานดาวเทียมหรือติดกล่องรับสัญญาณ และที่สำคัญใช่ว่าซื้อจานดาวเทียมมาติดตั้งแล้วจะสามารถรับสัญญาณ “ทีวีดาวเทียม” เหล่านี้ได้ครบ

ข้อจำกัดด้านการลงทุนและการรับสัญญาณนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่กับธุรกิจ “ทีวีดาวเทียม”ไม่น้อยว่า เมื่อแจ้งเกิดแล้วจะสามารถทำธุรกิจเติบโตต่อเนื่องได้อย่างไร

“คอนเทนต์” จึงเป็นตัวสำคัญที่สุดที่จะตอบโจทย์ในด้าน “ความสำเร็จ” เพราะหากคอนเทนต์หาดูได้ทั่วไปก็คงไม่มีใครลงทุนควักกระเป๋าติดตั้งจานดาวเทียม

ที่สำคัญ นักการตลาด เจ้าของสินค้า และเอเยนซี่โฆษณาที่เป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจนี้ก็ใช่ว่าจะควักเงินซื้อโฆษณากันง่ายๆ เช่นกัน…

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 4000 (3200) หน้า 21

แท็ก คำค้นหา