หมาเฝ้าบ้านพันธุ์ดุ

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
หนังสือพิมพ์มติชน

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ของทุกปี) เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดอภิปรายที่สมาคมนักข่าวฯ เรื่อง “(วิ) วาทกรรมสมัครกับสื่อ” พร้อมกับเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยว่าด้วย “วาทกรรมนายกฯสมัครกับสื่อ” และทั้ง 3 สมาคมได้ออกแถลงการณ์ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้นำเสนอต่อสาธารณชนไปแล้ว

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดงานที่โรงแรมมิราเคิล หลักสี่ นอกจากจะมีพิธีมอบโล่รางวัลศรีบูรพาประจำปี 2550 ให้กับ “สุทธิชัย หยุ่น” และจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “หมาเฝ้าบ้าน:อุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์” ให้บรรดานักเขียนที่มาร่วมงานได้รับฟังกันอีกด้วย

ผู้เขียนได้รับเชิญไปเป็นผู้อภิปรายทั้ง 2 รายการ มีข้อสังเกตว่า สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในท่ามกลางที่ต้องเผชิญกับวาทกรรมจากรัฐบาลหัวหน้ารัฐบาลชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” ได้ ขณะเดียวกันการเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางส่วนว่า หนังสือพิมพ์ไม่ควรเลือกข้าง ไม่ควรเลือกฝ่าย

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการบางคนทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนระบุ ว่า ขณะนี้มีร่องรอยว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่อันตรายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทรุดลงเป็นความรุนแรง ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คือ สื่อมวลชน และกล่าวว่า คนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสื่อและสื่อที่ไม่รับผิดชอบกำลังส่งผลกร่อนทำลายประชาธิปไตยสังคมไทยใน 3 ทาง ดังนี้

1.สร้างความโกรธแค้นเกลียดชัง ปลุกปั่นสถานการณ์เสียเอง 2.โฆษณาชวนเชื่อ เป็นกระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดหัวใจ ให้ร้ายใส่ความคู่ต่อสู้ด้วยเล่ห์เพทุบายสารพัด และ 3.ทั้งหมดนี้ดำเนินไปขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนเฉยเมยต่อการละเมิดจรรยาบรรณสองประการข้างต้น หรือทำตัวลู่ตามลม เลือกปฏิบัติปกป้องเฉพาะพวก ลงโทษเฉพาะฝ่าย

การกล่าวถึงสื่อมวลชนย่อมหมายรวมสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกิจการของเอกชน และวิทยุ โทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ แต่เมื่อพิเคราะห์แล้วก็จะพบความจริงว่า หนังสือพิมพ์ก็อยู่ในข่ายการถูกตั้งคำถามในกระบวนการตรวจสอบของภาคสังคมซึ่งอยากเห็นหนังสือพิมพ์ได้ทำหน้าที่ในสิ่งที่พวกตนปรารถนา

ในแง่ของหลักวิชาการว่าด้วยสื่อสารมวลชนในประเทศเสรีประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มีหลายบทบาท ได้แก่บทการเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเสนอข่าวสารใด บทบาทการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน บทบาทการแสดงความเห็นและบทบาทการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ด้วยบทบาทหลายบทบาทนี้เองประกอบกับสภาพการณ์ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น มีความสลับซับซ้อน ทำให้หนังสือพิมพ์ซึ่งมีอยู่หลายฉบับวางตัวลำบากและพูดให้ถึงที่สุดก็ต้องบอกว่า การแสดงในทุกบทบาทของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับให้เป็นที่พอใจคนทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

โดยเฉพาะบทบาทการเป็นหมาเฝ้าบ้านนั้น หากย้อนกลับไปดูอดีต หนังสือพิมพ์กับรัฐบาลมักเป็นคู่อาฆาตหรือขัดแย้งกันอยู่เสมอ เพราะผู้ปกครองประเทศไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือทหารที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหารมักเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองเป็น “นาย” ของประชาชน แทนที่จะเป็น “ผู้รับใช้” หรือลืมตัวคิดว่าตัวเองมีอำนาจยิ่งใหญ่ จะทำอะไรใครก็ได้ มองไม่เห็นคุณค่า ศักดิ์ศรีของคนอื่น ไม่ต้องการได้ยินเสียงบ่น เสียงว่า เสียงด่าจากใคร ยิ่งหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวสารและเขียนแสดงความคิดเห็นให้คนได้อ่านจำนวนมาก ถ้าไปเขียนในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่สบอารมณ์จะมีอาการโกรธเกรี้ยวขึ้นมาทันที จากนั้นก็จะมีมาตรการต่างๆ มาลงโทษ

ได้ชื่อว่า หนังสือพิมพ์ ความรับผิดชอบมูลฐานคือ การขุดคุ้ย เปิดโปงความอ่อนแอและบกพร่องในการบริหารงานของรัฐบาลให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศได้รับทราบ ทั้งยังต้องป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจไปในทางมิชอบ หนังสือพิมพ์จึงต้องเฝ้าจับตาดูการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปโดยสุจริต ไม่ฉกฉวยเอาผลประโยชน์ไปเข้าพกเข้าห่อของตัวเอง ครอบครัวและพวกพ้อง แก้ปัญหาของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนสุนัขยามหรือหมาเฝ้าบ้าน คอยสังเกตมิให้โจรหรือขโมยแอบย่องปีนรั้วเข้ามาในบ้านในยามที่เจ้าของบ้านนอนหลับหรือไม่ทันได้ระมัดระวังตัว จากนั้นไอ้หัวขโมยหยิบฉวยเอาข้าวของมีค่าไปหรือไม่ก็อาจจะทำร้ายเจ้าของบ้านตายหากตื่นขึ้นมาแล้วร้องเอะอะโวยวาย ขัดขืนการปล้นจี้ของขโมย

ในความเป็นจริง การที่ประเทศชาติมีหมาเฝ้าบ้านหลายตัว (มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ) ย่อมเป็นสิ่งดีเพราะจะได้ช่วยกันสอดส่อง ช่วยกันเห่าและกัดผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหากหมาเฝ้าบ้านจะกัดกันเองบ้างก็มิใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นสัญชาติของหมา ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านจะด่าทอหรือสาดน้ำร้อนเข้าใส่หมาก็เป็นเรื่องธรรมดา

สภาพสังคมในปัจจุบันที่การหักโค่นทางการเมืองของกลุ่มอำนาจและกลุ่มมวลชนยังดำรงอยู่ เช่น ความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 การท้าทายต่อสถาบันเบื้องสูง การเกิดม็อบที่ใช้ความรุนแรง ความหยาบคายเข้าตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ หนังสือพิมพ์ต้องแสดงบทบาทให้สมบูรณ์ทั้งการรายงานข่าวสารที่ถูกต้อง ครบถ้วน เจาะลึก รอบด้านตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นอิสระ เป็นกลาง สำหรับบทบาทของการเป็นหมาเฝ้าบ้านก็ต้องซื่อสัตย์ต่อเจ้าของประชาชนประเทศ

ในทางทฤษฎี คนบางส่วนอาจต้องการเห็น “หมาผู้ดี” มีความรับผิดชอบสูง ที่ค่อยๆ เห่าด้วยภาษาที่สุภาพ ไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่ส่งเสียงดังเกินไป เห่าอย่างถูกกาละเทศะ เวลาจะกัดใครก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ค่อยๆ กัด แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้หรือ สมมุติว่า มีโจรใช้ผ้าคลุมหน้าเป็นไอ้โม่งหลายคนพร้อมอาวุธปืนปีนรั้วเข้าบ้านในยามค่ำคืนและบังเอิญเจ้าของบ้านไม่อยู่ เป็นไปได้หรือ/ที่หมาซึ่งได้ชื่อว่าซื่อสัตย์ต่อเจ้าของจะค่อยๆ เห่าด้วยน้ำเสียงอันนุ่มนวล ไม่ตรงรี่เข้าไปกัด ยกเว้นหมาที่ทรยศต่อเจ้าของบ้านเท่านั้นแหละที่ไม่เห่าและต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า หมาตัวนั้นได้เศษเนื้อและกระดูกเข้าไปแล้ว หมาจำพวกนี้ควรเอาไปปล่อยได้แล้ว เลี้ยงไว้ก็เปลืองข้าวสุก

ถ้าบ้านไหนเลี้ยงหมาแบบนี้ไว้เฝ้าบ้าน รับรองว่าทรัพย์สินเงินทองหมดบ้านแน่ และถ้าบ้านนั้นมีลูกสาวสวย คงไม่รอดพ้นการถูกข่มขืนและฆ่าตายหากขัดขวางจากคนร้าย

จากสภาพการเมืองไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด มีนักการเมืองที่เมื่อเข้าสู่อำนาจก็มักแปรสภาพไปเป็นโจรอยู่เสมอ จึงมีหมาพันธุ์ดุหลายตัวคอยเห่าคอยกัดคนที่คิดไม่ซื่อต่อเจ้าของบ้าน บางตัวดุร้ายมากอาจถูกเรียกว่าเป็น หมาบ้า พร้อมๆ กันนั้นเจ้าของบ้านก็จะช่วยกันเอาไม้ไล่ตี เอาก้อนหินขว้างศีรษะ หรือไม่ก็อาจเอาปืนไล่ยิงขโมยคนนั้น

ถ้าประเทศนี้มีความสงบ ขโมยขโจรไม่ชุกชุม ผู้คนอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย นักการเมืองเปี่ยมด้วยคุณธรรม หมาเฝ้าบ้านคงไม่ต้องเหนื่อยมากและอาจเป็น “หมาผู้ดี” ที่คนบางส่วนอยากจะเห็นก็เป็นได้

ที่มา มติชน วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11016 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา