กระจก ส่อง สังคมไทย จาก 2 นักวิชาการ
คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
จดหมายเปิดผนึกจาก นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจไม่ได้รับการสนองตอบจาก “สื่อมวลชน” เท่าใดนัก
เท่าที่ตรวจสอบอย่างคร่าวๆ มีสื่อภาษาไทยเพียง 2 ฉบับที่นำเสนอ คือ มติชน กับ ไทยโพสต์
กระนั้น ก็มิได้หมายความว่าการส่งสารมายังสื่อจะไม่มีความหมาย
ตรงกันข้าม เนื้อหาภายในจดหมายเปิดผนึกของทั้งสองมีความน่าสนใจ
ขณะเดียวกัน ภูมิหลังที่เป็นนักวิชาการสันติวิธีของทั้งสองก็ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าคนแรกสอนทางด้านรัฐศาสตร์ คนหลังสอนทางด้านนิเทศศาสตร์
รายละเอียดที่อยู่ในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชน มีดังนี้
ขณะนี้มีร่องรอยว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่อันตรายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทรุดลงเป็นความรุนแรง
ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้คือ สื่อมวลชน
ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แม้ต่างกันคนละขั้วก็ยังเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ตัวความแตกต่างนั้นเองมิได้เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง ตราบเท่าที่ความแตกต่างสามารถปะทะขัดแย้งกันได้อย่างสันติตามกระบวนการทางการเมือง กระบวนการทางศาล และกระบวนการทางปัญญาผ่านสื่อและเวทีวิชาการ
หากเมื่อใดที่กระบวนการเหล่านี้ไม่ทำงาน หรือกลายเป็นปัจจัยยุยงส่งเสริมความเกลียดชังเสียเอง ความแตกต่างก็จะกลายเป็นความรุนแรง
คนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสื่อ และสื่อที่ไม่รับผิดชอบ กำลังส่งผลกร่อนทำลายประชาธิปไตยสังคมไทยใน 3 ทางดังนี้
(1) สร้างความโกรธแค้น เกลียดชัง ปลุกปั่นสถานการณ์เสียเอง
(2) โฆษณาชวนเชื่อเป็นกระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดหัวใจ ให้ร้ายใส่ความคู่ต่อสู้ด้วยเล่ห์เพทุบายสารพัด
(3) ทั้งหมดนี้ดำเนินไปขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนเฉยเมยต่อการละเมิดจรรยาบรรณ 2 ประการข้างต้น หรือทำตัวลู่ตามลม เลือกปฏิบัติปกป้องเฉพาะพวก ลงโทษเฉพาะฝ่าย
สิ่งที่ดูจะหายไปในแวดวงสื่อมวลชนไทยที่ทำการทั้ง 3 ประการข้างต้น คือ มาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่ต้องเคร่งครัดกับหลักการ ความเที่ยงธรรมและความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ
และสูงกว่ากระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่างๆ
เมื่อประกอบกับอำนาจที่มากขึ้นทุกวัน ผลก็คือ สื่อมวลชนของไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ใช้อำนาจทำร้ายผู้ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ โดยที่คนในวิชาชีพด้วยกันไม่กล้าทักท้วงตรวจสอบ
สื่อมวลชนเช่นนี้นอกจากจะไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยแล้วยังกลับจะเป็นโทษอีกด้วย เพราะก่อความโกรธ หนุนความหลง และใช้เหตุผลเพียงเพื่อเอาชนะ ส่งผลโน้มน้าวสาธารณชนอย่างผิดๆ
และที่สุดสามารถจุดชนวนให้ความแตกต่างทางความเชื่อและความคิดเห็นกลายเป็นความรุนแรง
ในขณะที่เสรีภาพของสื่อต้องได้รับการปกป้อง สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้สื่อใช้อำนาจของตนอย่างฉ้อฉลจนอาจนำไปสู่ความรุนแรง ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนควรจัดการดูแลปัญหา “สื่อเป็นพิษ” อันน่าวิตกนี้โดยด่วนที่สุด
ทั้งควรให้สาธารณชนมีส่วนร่วมด้วย โดยที่รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ผู้ที่ติดตามบทบาทของทั้ง นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ น.ส.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รับประกันได้
รับประกันได้ในความสุจริตใจ ไม่ว่าต่อวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ว่าต่อพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย
ข้อสังเกต ข้อเสนอ จากทั้งสองจึงสมควรนำมาพิจารณาอย่างเป็นพิเศษ
ที่มา มติชน วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11015 หน้า 3